ท่องเที่ยวชุมชน ทอดน่อง…ท่องทัศนา ศาสนสถาน (บ้าน-วัด-วัง)
ท่องเที่ยวชุมชน ทอดน่อง…ท่องทัศนา ศาสนสถาน (บ้าน-วัด-วัง)
สืบสานมรดกศิลป์แห่งศรัทธา ย่านกลางบางกอก
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) โดยภูมิภาคภาคกลาง, ททท.สำนักงานกรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ต่อเนื่องจากงาน “เดินเทียน ตักบาตรดอกไม้” ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา ประจำปี 2562 ที่ผ่านมา
เป็นการเปิดโอกาสให้ซึมซับความรู้ทางประวัติศาสตร์ ช่วยกันรักษาพื้นที่อนุรักษ์อันทรงคุณค่า โดยมีนักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม อาจารย์จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา มาเป็นวิทยากร บอกเล่าประวัติ เกร็ดความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมไทย เชื่อมโยงประวัติศาสตร์เข้ากับวิถีชุมชนจากอดีตถึงปัจจุบัน ให้ผู้ร่วมกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนได้รับรู้และเข้าใจความเป็นมาของประเทศไทยอย่างเต็มอรรถรส
อาจารย์จุลภัสสรพาเริ่มต้นทัศนาย่านกลางบางกอกที่วัดสุทัศนเทพวราราม ราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่จุดกลางพระนครซึ่งนับจากคูเมืองสมัยธนบุรีกับคูเมืองสมัยที่ตั้งพระนคร โดยออกแบบก่อสร้างและวางแผนผังทางสถาปัตยกรรมด้วยระบบจักรวาลวิทยา รัชกาลที่ 1 โปรดให้อัญเชิญพระศรีศากยมุนี (พระโต) จากพระวิหารหลวงวัดมหาธาตุ จังหวัดสุโขทัย มาประดิษฐาน และสร้างพระวิหารขึ้น แต่ยังไม่เสร็จก็สิ้นรัชกาล ต่อมา รัชกาลที่ 2 และ 3 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจนวัดเสร็จสมบูรณ์ โดยรัชกาลที่ 2 ทรงลงฝีพระหัตถ์บานประตูหน้าพระวิหารหลวงจำหลักลวดลายพรรณพฤกษาร่วมกับฝีมือช่างหลวง น่าเสียดายที่บานหนึ่งถูกไฟไหม้ในราวปี พ.ศ. 2502 จึงนำบานประตูหลังมาไว้แทนและนำบานประตูหน้าทั้งสองบานไปจัดแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ภายในพระวิหารหลวงซึ่งประดิษฐานพระศรีศากยมุนี พระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยที่มีลักษณะงดงาม ประทับนั่งขัดสมาธิราบ โดยใต้ฐานพระประธานเป็นที่ประดิษฐานพระบรมราชสรีรางคาร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร อันทำให้วัดสุทัศน์ฯ เป็นวัดประจำรัชกาลที่ 8 ขณะที่จิตรกรรมภายในพระวิหารหลวงโดดเด่นตรงแทนที่จะเขียนภาพจักรวาล เขาพระสุเมรุ ทวีปทั้งสี่ ไว้บนผนังโดยรอบเช่นวัดอื่น ๆ แต่เขียนไว้ที่เสาทั้ง 8 ต้น เมื่อนำภาพด้านหน้าของเสาทั้ง 8 ต้นมาเรียงกันจะได้ภาพจักรวาลอย่างน่าทึ่ง แสดงถึงพระพุทธองค์อยู่ศูนย์กลางของจักรวาล โดยอาจารย์จุลภัสสรยังได้ชี้ภาพของ “เปรตวัดสุทัศน์” ที่ด้านหนึ่งของเสาต้นที่ 4 ซึ่งเล่าขานกันมาแต่อดีต แต่คนไม่ค่อยรู้จุดที่ตั้งของภาพ
ภายในพระอุโบสถขนาดใหญ่ ประดิษฐานพระพุทธตรีโลกเชษฐ์ ปางมารวิชัย โดยมีซุ้มเสมาคู่ 8 ซุ้ม รูปทรงสมัยรัชกาลที่ 1 รายรอบพระอุโบสถ ซุ้มประตูหน้าต่างสวยงามด้วยรูปแบบซุ้มผสมไทย-ตะวันตก กำแพงแก้วด้านทิศเหนือและทิศใต้ของพระอุโบสถมี “เกยโปรยทาน” ด้านละ 4 เกย ขณะที่บริเวณด้านนอกระหว่างพระวิหารหลวงกับพระอุโบสถมีงานพุทธศิลป์ชั้นเยี่ยมในสมัยรัชกาลที่ 3 คือสัตตมหาสถาน เจติยสถานที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการเสวยวิมุติสุข (ที่พระพุทธเจ้าประทับหลังจากตรัสรู้) โดยปลูกต้นไม้ที่กล่าวถึงในพุทธประวัติ เช่น พระอัชปาลนิโครธ (ต้นไทร), พระมุจลินทพฤกษ์ (ต้นจิก), พระราชายตนพฤกษ์ (ต้นเกด)
จากวัดสุทัศน์ฯ เดินผ่านเสาชิงช้า มายังถนนดินสอ เพื่อสักการะทวยเทพตรีมูรติ ณ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ อันมี 3 เทวาลัย โบสถ์ใหญ่คือสถานพระอิศวร ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร ทำด้วยสำริดประทับยืน ปางประทานพร โบสถ์หลังกลางคือ สถานพระพิฆเนศวร ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศวรประทับนั่ง ทำด้วยหิน 5 องค์ และโบสถ์หลังริมคือสถานพระนารายณ์ ประดิษฐานเทวรูปสำคัญ 3 พระองค์ คือ พระนารายณ์ พระลักษมี และพระมเหศวรี ตรงกลางสถานพระนารายณ์มี “เสาหงส์” คล้ายเสาชิงช้าขนาดย่อม ใช้ประกอบพิธีช้าหงส์ในพิธีตรีปวาย
เมื่อเดินมาถึงย่านถนนดินสอที่มีของกินหลากหลาย ก็ได้เวลาอาหารกลางวันที่ชาวคณะฯ ตบเท้าเข้าร้านอาหารนันฟ้า กินเป็ดย่างอบน้ำผึ้งและอาหารไทย-จีนสูตรฮ่องกงกันอย่างเอร็ดอร่อย แล้วจึงเดินท่องพระนครจากถนนดินสอเข้าถนนตะนาว ที่ยังพอมีบ้านเรือนสยามจากสมัยรัชกาลก่อนๆ หลังคาจั่วมุมกระเบื้องที่มีเพื่อให้น้ำฝนไหลออก บางเรือนมีฉลุลายขนมปังขิง (ชื่อลวดลายฉลุไม้จากยุโรป เริ่มแพร่หลายในรัชกาลที่ 4) จากนั้นเดินผ่านซุ้มประตูวังสรรพสาตรศุภกิจ วังที่ประทับพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทองแถมถวัลยวงศ์ กรมหลวงสรรพสาตรศุภกิจ ต้นราชสกุลทองแถม เข้าสู่ย่านสามแพร่ง (แพร่งสรรพศาสตร์-แพร่งภูธร-แพร่งนรา) ซึ่งมีอาคารวังโบราณเช่นวังวรวรรณ สลับรายเรียงด้วยเรือนแถวสองชั้นเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและย่านการค้าอันขึ้นชื่อด้วยอาหารคาวหวานนานาความอร่อย รวมถึงร้านนัฐพร ไอศครีมรสไทย ที่ชาวคณะฯ แวะเติมความหวานให้สดชื่นกันหลากหลายรสชาติทั้งกะทิสด มะพร้าวอ่อน ชานม
การเดินเที่ยวชุมชนมาถึงจุดหมายปลายทางที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หลังจากเยี่ยมชมสุสานหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่บรรจุพระอัฐิ (กระดูก) และพระสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) แก่พระบรมราชเทวี พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา พระราชโอรสและพระราชธิดาในพระองค์ ก็ได้เวลากิจกรรม D.I.Y. ทำดอกไม้พุทธบูชาอบแห้ง ซึ่งนำดอกไม้อย่างกุหลาบ มะลิ บานไม่รู้โรย กุหลาบมอญ ใบเตยหอม จากงานประเพณีเดินเทียน ตักบาตรดอกไม้ในวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษาที่ผ่านมา อบแห้งและทำเป็นบุหงารำไป นับว่าได้ใช้ทรัพยากรให้มีประโยชน์ และได้ร่วมสานโครงการ “ลดโลกเลอะ” ของททท. ผู้ร่วมคณะฯ ต่างได้รับความรู้จากการสาธิตของครูทัศพร พุ่มเจริญ ครูจากวิทยาลัยในวังหญิงและเจ้าของน้ำอบ น้ำปรุง “ช่อแก้ว” แล้วจึงลงมือทำบุหงารำไป ไว้เป็นของที่ระลึกจากวันอันแสนสนุกในการทอดน่อง ท่องทัศนา ศาสนสถาน (บ้าน-วัด-วัง) สืบสานมรดกศิลป์แห่งศรัทธา ย่านกลางบางกอก และส่วนหนึ่งของบุหงารำไปที่ช่วยกันทำ ยังนำไปไว้ที่สำนักงานททท. เพื่อแจกจ่ายนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวในประเทศไทยต่อไปด้วย