ชวนเที่ยวเมืองรอง 5 ภาค พาไปหลงเสน่ห์เมืองไทย
เที่ยวไทย….ให้หายคิดถึง
หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ก็ถึงเวลาที่เราจะออกมาชื่นชมความงามของเมืองไทยให้ครึกครื้นกันเหมือนเดิม แต่แน่นอนว่าเที่ยวอย่างไรให้ปลอดภัย ภายใต้มาตรการและมาตรฐานความปลอดภัยด้านการป้องกันโรคและสุขอนามัย (SHA) สำหรับการให้บริการด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย
ในส่วนของนักท่องเที่ยวอย่างเรา ง่ายๆ ก็คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ รักษาระยะห่าง ส่วนแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ก็มีการจำกัดจำนวนคน มีการตรวจคัดกรอง บางที่อาจจะต้องจองการเข้าชมล่วงหน้าผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นการท่องเที่ยวแบบ New Normal ที่เราจะคุ้นชินกันในอนาคต
แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง ได้เปิดให้เข้าไปเที่ยวชมกันแล้ว นอกจากเมืองท่องเที่ยวหลักๆ ที่เราคุ้นเคยกันดี ก็ยังมีจังหวัดเมืองรองที่ชวนเที่ยวไม่น้อย ด้วยเสน่ห์ความเป็นธรรมชาติ วิถีชุมชน วัฒนธรรม และอาหารท้องถิ่นที่น่าลิ้มลอง ล้วนแต่เป็นความน่าประทับใจของสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทยที่ชวนหลงรัก
แอ่วเหนือวิวสวยชวนฝัน ลองชิมอาหารถิ่น
ภาคเหนือของประเทศไทยนั้นขึ้นชื่อเรื่องวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ทั้งผืนป่าและภูเขาสลับซับซ้อน ธรรมชาติที่สดชื่นอุดมสมบูรณ์ อากาศสบายๆ วิถีชีวิตผู้คน และอาหารถิ่นที่ต้องลิ้มลอง
เพชรบูรณ์ – ไปชมความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติที่แก่งบางระจัน ลำน้ำเข็ก ต.หนองแม่นา อ.เขาค้อ ที่มี “แมงกะพรุนน้ำจืด” หนึ่งในสัตว์น้ำสายพันธุ์หายากของโลก และเป็นหนึ่งในห้าแห่งของโลกนี้ที่พบอยู่ตามแหล่งน้ำไหลบนเทือกเขาสูง เจ้าแมงกะพรุนตัวใสๆ ขนาดใหญ่ที่สุดราวๆ เหรียญ 5 บาท จะพบที่นี่ทุกปีในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม เส้นทางการไปชมแมงกะพรุน ด้วยการพายเรือล่องไปในลำน้ำเข็ก ถือได้ว่าสัมผัสกับธรรมชาติแบบสุดๆ
และในพื้นที่ของเพชรบูรณ์ ก็มีชุมชนม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ด้วยวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ สะท้อนความโดดเด่นให้เห็นชัดผ่านผืนผ้าและการแต่งกาย “ผ้าปักม้ง” ลวดลายสวยงาม แต่เดิมใช้เป็นชุดแต่งกายประจำเผ่า และใช้ในครัวเรือน ปัจจุบันได้มีการนำผ้าปักม้งมาดัดแปลงเป็นลวดลายลงในเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้อื่นๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากคนภายนอกจนกลายเป็นสินค้าของฝากที่ขึ้นชื่อ
มาถึงถิ่นชาวม้ง ก็ต้องชิมอาหารถิ่น “พิซซ่าม้ง” ที่เป็นขนมปีใหม่ม้ง จะมีให้ชิมช่วงงานประเพณีปีใหม่ม้ง ราวเดือนธันวาคม-มกราคมของทุกปี พิซซ่าม้งเป็นขนมหวานที่นิยมนำไปไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ และทำกินกันในครอบครัวช่วงปีใหม่ มีวิธีทำคือ นำข้าวเหนียวมานึ่งให้สุกนำไปตำละเอียด แล้วนำไปห่อใบตอง ย่างบนเตาไฟให้กรอบ จิ้มกินกับน้ำอ้อยหรือนมข้นหวาน ที่เรียกว่าพิซซ่าก็เพราะเป็นแผ่นกลมๆ แบนๆ หน้าตาคล้ายพิซซ่า ปิ้งย่างกินร้อนๆ หอมอร่อยมากๆ
ลำปาง – นึกถึงภาพแสงแดดอ่อนๆ ยามเช้า ที่ส่องผ่านละอองไอน้ำลอยกรุ่น ภาพสวยๆ แบบนี้มีให้ชมในยามเช้าที่ “อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน” น้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ที่ 73 องศาเซลเซียส ถ้านำไข่ลงไปต้มก็จะได้ไข่ออนเซ็นที่ไข่แดงสุกกลม ส่วนไข่ขาวยังเป็นวุ้น ใครอยากแช่ตัวแช่เท้าให้สบาย ก็มีบ่อน้ำร้อนริมลำธารที่อุณหภูมิกำลังพอเหมาะ
ใกล้ๆ กับแจ้ซ้อนก็เป็น “บ้านป่าเหมี้ยง” ชุมชนเล็กๆ น่ารักบนดอยสูงที่แสนเงียบสงบ ชื่อของหมู่บ้านมีที่มาจากต้นเมี่ยง (ต้นชา) ที่มีอยู่ทั่วหมู่บ้าน ที่นี่จะนำใบชาไปหมักเพื่อเป็นของกินเล่น แล้วก็ยังแปรรูปเป็นหมอนใบชา รวมไปถึงอาหารที่เป็นเอกลักษณ์อย่างยำใบเมี่ยง มีโฮมสเตย์ให้พักสัมผัสบรรยากาศดีๆ และถ้าใครมาในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมก็จะได้ชมดอกเสี้ยวป่าที่จะบานสะพรั่งทั้งภูเขา
ส่วนวัดสวยๆ ที่ลำปางต้องยกให้ “วัดพระธาตุดอยพระฌาน” ที่ตั้งอยู่บนดอยพระฌาน สามารถมองเห็นวิวสวยๆ ของ อ.แม่ทะ ได้รอบทิศทาง ขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุเก่าแก่ที่อยู่ด้านบน ชมความงามของศิลปะล้านนาอันอ่อนช้อย แล้วก็ขึ้นไปชมทะเลหมอกยามเช้าที่มองออกไปได้สุดลูกหูลูกตาในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
ของอร่อยในเมืองลำปาง ต้องมาลองชิม “บะหมี่ลิ้นชัก” หรือชื่อร้านว่า “บะหมี่โกจือ” ที่เรียกบะหมี่ลิ้นชักก็เพราะเมื่อก่อนจะเก็บบะหมี่เส้นสดไว้ในลิ้นชักเพื่อกันลม พอมีลูกค้ามาสั่งก็ค่อยเปิดลิ้นชัก หยิบเส้นออกมาลวก ส่วนเมนูเด็ดของที่นี่ก็ต้องเป็นบะหมี่เกี๊ยว บะหมี่เส้นกลมเล็กที่ทางร้านทำเอง กับเกี๊ยวหมูที่สับและปรุงเอง รสชาติกลมกล่อมโดนใจ
น่าน – เมืองน่านมีวิวสวยเป็นขุนเขาสลับซับซ้อนมากมาย อย่างที่ “อุทยานแห่งชาติขุนสถาน” ไปชมวิวที่สวยสุดใจ กับทะเลหมอกแบบอลังการ ยิ่งในช่วงฤดูฝนก็จะเห็นหมอกได้มากกว่าฤดูอื่น ส่วนในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี ยอดดอยก็จะเป็นสีชมพูสวย จากดอกพญาเสือโคร่งที่บานสะพรั่งชวนชมในช่วงเดือนมกราคม ถึง กุมภาพันธ์ ของทุกปี
ลัดเลาะเส้นทางป่านป่าเขาเข้าไปที่ “บ่อเกลือ” ชมการทำเกลือสินเธาว์ เกลือบนภูเขาด้วยวิธีโบราณที่ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ บ่อเกลือโบราณของที่นี่ยังคงใช้งานได้ มีผลผลิตเกลือออกมาวางขายเป็นของฝากให้นักท่องเที่ยว ระหว่างทางก็มีทิวทัศน์สวยๆ ให้ชม การทำเกลือจะหยุดทำในช่วงเช้าพรรษาและจะทำอีกครั้งในช่วงออกพรรษา
แล้วมาพักผ่อนกายใจที่ “ชุมชนมณีพฤกษ์” ชุมชนท่องเที่ยวที่เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน เสน่ห์ของชุมชนก็คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชาวม้ง รวมถึงธรรมชาติรอบๆ ตัวที่ยังคงสมบูรณ์ สัมผัสอากาศดีๆ ตลอดทั้งปี แล้วก็มาจิบ “กาแฟเกอิชา” หนึ่งในเมล็ดกาแฟที่แพงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก กาแฟเกอิชานำพันธุ์มาจากประเทศเอธิโอเปีย นำมาปลูกที่บ้านมณีพฤกษ์ และเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ชุมชนในไทยที่สามารถปลูกได้ เนื่องจากต้องอยู่บนพื้นที่สูง สภาพอากาศเหมาะสม เมื่ออากาศเย็น เมล็ดกาแฟสุกช้า ได้รับแร่ธาตุและซึมซับรสชาติเยอะ ทำให้รสชาติกาแฟกลมกล่อมกว่าเมล็ดแบบอื่นๆ ออกรสหวานคล้ายส้ม และให้กลิ่นอ่อนของผลไม้ มาที่บ้านมณีพฤกษ์ ต้องมาดริปกาแฟเกอิชา จิบร้อนๆ ชมวิวสวยๆ รอบตัว เป็นการดื่มกาแฟที่ได้อรรถรสเป็นอย่างยิ่ง
เชียงราย – จิบกาแฟอุ่นๆ กับวิวสวยหลักล้านที่ “ดอยผาหมี” หมู่บ้านหุบเขาสุดชายแดนไทย แหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตอีกแห่งหนึ่งของเชียงราย ด้วยทิวทัศน์งดงามของธรรมชาติรอบๆ ตัว มานั่งฟังเสียงธรรมชาติ ชิมอาหารสำรับชนเผ่า นอนพักบ้านโฮมสเตย์ พักผ่อนและสัมผัสวิถีชีวิตเรียบง่ายของชาวอาข่า
ส่วนดอยสูงที่มีดอกไม้สวยๆ ให้ชมทั้งปี ก็ต้องไปที่ “ดอยตุง” ด้านบนมีสวนแม่ฟ้าหลวง ที่ตกแต่งด้วยดอกไม้หลากสีสัน หลายสายพันธุ์ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนตามฤดูกาล ชมความงดงามและเรียบง่ายของพระตำหนักดอยตุง ไปเรียนรู้เรื่องราวของหอแห่งแรงบันดาลใจ และตื่นเต้นเร้าใจกับ Tree Top Walk ชมวิวบนยอดไม้แบบพาโนราม่า และยังมีวัดพระธาตุดอยตุง วัดประจำปีเกิดปีกุน สามารถขึ้นไปสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลได้
มาถึงเชียงรายแล้วอย่าลืมชิม “ข้าวแรมฟืน” อาหารของดั้งเดิมของชาวไทใหญ่ ไทลื้อ ที่มาจากทางสิบสองปันนา ได้มาจากการโม่ข้าวเจ้าแข็งเพื่อทำแป้ง แล้วนำน้ำแป้งที่ตกตะกอนนั้นมาเคี่ยวกับน้ำปูนใสจนสุก จากนั้นก็เทใส่ภาชนะ ทิ้งไว้ข้ามคืน ก็จะได้ข้าวแรมฟืนที่แข็งตัว สามารถนำมากินได้ ซึ่งการกินข้าวแรมฟืนแบบต้นตำรับนั้นจะมีการนำมาคลุกเคล้ากับเครื่องปรุง อาทิ น้ำถั่วเน่า พริกผัดน้ำมัน ถั่วลิสงป่น กระเทียมเจียว ถั่วงอก เป็นต้น รสชาติจะออกเปรี้ยว เผ็ด หวาน หอม มัน กินแล้วอร่อยเพลิน เป็นได้ทั้งของว่างและอาหารหลัก
พิษณุโลก – ไปชมวิวสวยๆ ของภูเขาหินปูนรูปร่างแปลกตาสูงตระหง่านกลางทุ่งนาสีเขียวที่ “เนินมะปราง” พร้อมบรรยากาศสงบๆ นั่งชิงช้าลอยฟ้าชมวิวบนต้นไม้รูปหัวใจที่บ้านรักไทย ส่วนที่บ้านมุง ชวนมานั่งรถอีแต๊กชมบรรยากาศในหมู่บ้าน ผ่านเส้นทางในหมู่บ้าน ผ่านวัด ถ้ำ ไฮไลต์คือทุ่งนาเขียวขจีที่มีภูเขาหินปูนเป็นฉากหลัง ส่วนยามเย็นมาชมฝูงค้างคาวนับล้านตัวที่บินออกจากถ้ำเพื่อหากิน
แล้วไปผจญภัยเบาๆ ที่ “อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า” พิชิตลานหินปุ่ม, ลานหินแตก ที่เกิดขึ้นจากความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ ซึ่งหากไปท่องเที่ยวในช่วงฤดูฝนก็จะได้ชมความงดงามของดอกเปราะภูขาว และดอกไม้เล็กๆ ที่ออกดอกผลิบานให้ชมความสวยงาม ชมวิวกว้างไกลที่ผาชูธง โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตกดินจะสวยมาก ย้อนรำลึกประวัติศาสตร์ที่โรงเรียนการเมืองการทหาร ที่ยังมีสิ่งก่อสร้างเก่าๆ หลงเหลืออยู่ โดยในช่วงฤดูหนาวจะยิ่งสวยเป็นพิเศษ เพราะมีใบเมเปิ้ลที่เปลี่ยนเป็นสีแดงสด ร่วงหล่นจากต้นลงมาด้านล่าง
เอกลักษณ์ของกินที่พิษณุโลกต้องยกให้ “ก๋วยเตี๋ยวห้อยขา” ที่ถือว่าเป็นเจ้าต้นตำรับของก๋วยเตี๋ยวห้อยขาเลยทีเดียว อยู่บริเวณใกล้ๆ กับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระพุทธชินราช) มีให้เลือกอยู่หลายร้าน สมัยก่อนก็เป็นการนั่งห้อยขาริมแม่น้ำน่าน ปัจจุบันก็ปรับเปลี่ยนมานั่งห้อยขาบนบกแทน เรียกว่ายังรักษาเอกลักษณ์การห้อยขาไว้ให้นักท่องเที่ยวได้มาสัมผัสกัน
ตาก – ทะเลหมอกสวยๆ ของ จ.ตาก ลองมาชมที่ “ดอยหัวหมด” ลักษณะเป็นเขาหินปูนทอดตัวเป็นแนวยาวติดต่อกัน ยามพระอาทิตย์ขึ้นช่วงเช้านั้นยิ่งสวยงาม แสงอาทิตย์อ่อนๆ กับสายลมเย็นๆ มาพร้อมกับทะเลหมอกงามๆ (ในช่วงปลายฝนต้นหนาว) ช่วงฤดูฝนก็จะบานสะพรั่งด้วยดอกเทียนปักผีเสื้อ/ดอกเทียนดอนสีชมพู ส่วนช่วงฤดูร้อนก็มีทุ่งดอกเสี้ยวบานให้เห็นสีขาวทั่วผืนป่า
พักชอปปิ้งกันที่ “ตลาดริมเมย” ตลาดการค้าชายแดนที่เต็มไปด้วยของฝาก ของที่ระลึก เครื่องประดับต่างๆ ของพื้นเมืองทั้งไทยและเมียนมา มีทั้งหน่อไม้แห้ง ปลาแห้ง ปลาหัวยุ่ง เห็ดหอม เครื่องหนัง ผ้าซาติน และยังเป็นตลาดการค้าอัญมณีที่สำคัญ เช่น หยก ทับทิม และพลอยสีจากเมียนมา ช้อปปิ้งสนุกๆ ซื้อไปเป็นของฝากเพื่อนฝูงได้แบบเพลิดเพลิน
ส่วนของที่ต้องชิมก็คือ “ข้าวต้มผงกะหรี่” อาหารเช้าของคนเมืองตาก เป็นข้าวเจ้าผสมข้าวเหนียวต้มจนเมล็ดนุ่ม ราดหน้าผงกะหรี่ก็ผัดกับน้ำมัน ใส่หมูสับ ผัดให้หอม ปรุงรส โรยด้วยหอมเจียว ผักชีซอย และหัวไชเท้าทอง แล้วตักราดลงบนข้าวต้ม ให้กลิ่นหอมชวนกินสุดๆ
แม่ฮ่องสอน – เสพวิวสวยแบบพาโนรามาของ อ.สบเมย ที่ “ดอยพุ่ยโค” ดินแดนแห่งทุ่งหญ้าสีทอง (ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์) เดินเท้าขึ้นดอยไปประมาณ 850 เมตร ไปนอนกางเต็นท์รับอากาศบริสุทธิ์ เดินเล่นเลาะขอบยอดดอยบนสะพานไม้ ตามหาต้นเดียวดายที่ยืนโดดเดี่ยวอยู่บนดอย ยามเย็นชมพระอาทิตย์ตกดินแสนงาม กลางคืนชมดาวเต็มฟากฟ้า ส่วนยามเช้าสดชื่นกับทะเลหมอกแสนสวย
มาที่เมืองปาย แวะชมความงามของ “สะพานบุญโขกู้โส่” เป็นสะพานไม้ที่ทำมาจากไม้ไผ่สาน ระยะทางราว 800 เมตร สร้างทอดยาวผ่านท้องนาของชาวบ้าน ที่นำมาถวายวัด เพื่อเป็นเส้นทางเชื่อมต่อกับพุทธอุทยานห้วยคายคีรี โดยในวันงานบุญใหญ่ หรือ วันสำคัญๆ เช่น วันแม่ จะมีการทำบุญตักบาตรช่วงเช้าประมาณ 7.00 น. ถ้ามาเที่ยวที่นี่ในช่วงที่มีการทำนา ก็จะได้เห็นทิวทัศน์ทุ่งนาสีเขียวสบายตา มาเดินเล่นถ่ายรูป และแวะนั่งพักรับลมกันได้
ในแม่ฮ่องสอนมีชาวไทใหญ่อยู่มาก จึงทำให้มีอาหารการกินทั้งคาวหวานที่เป็นเอกลักษณ์ให้ได้ชิม อย่างพวกขนมหวานก็มีหลายเมนูที่น่าลิ้มลอง อย่างเช่น “ขนมอาละหว่า” ลักษณะคล้ายขนมเปียกปูน ทำมาจากแป้งข้าวเจ้า สาคู น้ำตาล นำไปกวนรวมกัน ราดหน้าด้วยหัวกะทิ แล้วนำไปอบจนหน้าขนมเป็นสีสวย รสชาติหอมมันหวาน เคี้ยวสาคูหนุบหนับ “ขนมส่วยทะมิน” ทำจากข้าวเหนียวผสมกะทิ น้ำตาล นำไปกวนจนเหนียว แล้วราดด้วยหัวกะทิ อบจนด้านบนเกรียมออกสีน้ำตาล กินแล้วคล้ายๆ ข้าวเหนียวมูน แต่หอมมันกว่านุ่มกว่า
แพร่ – ชวนไหว้พระที่เมืองแพร่ ขึ้นมาที่ “วัดพระธาตุดอยเล็ง” เดินขึ้นบันไดนาคไปสักการะพระธาตุดอยเล็งเพื่อความเป็นสิริมงคล เสร็จแล้วไปชมวิวเมืองแพร่ในมุมสูง เนื่องจากพระธาตุดอยเล็งเป็นพระธาตุที่อยู่สูงที่สุดของเมืองแพร่ เลยทำให้มีมุมมองที่กว้างไกล ชมภูเขา ต้นไม้ใบหญ้า และบ้านเรือนในเมืองได้แบบเต็มอิ่ม รอชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้ายามเย็นที่มีความสวยงามและบรรยากาศโรแมนติกดียิ่ง
แล้วมาสูดโอโซนให้สดชื่นเต็มปอดที่ “ชุมชนบ้านนาคูหา” เดินบนสะพานไม้ไผ่ที่ทอดยาวเข้าไปหาพระเจ้าตนหลวง พระพุทธรูปองค์ใหญ่สีเหลืองทองที่ประดิษฐานอยู่กลางทุ่งนา ส่วนในหมู่บ้านก็มีกิจกรรมสนุกๆ ไปเรียนรู้การทำผ้ามัดย้อมโดยใช้ฮ่อม ไปดูบ่อเตาสาหร่ายน้ำจืดที่จะพบได้ในแหล่งน้ำสะอาดเท่านั้น ชิมเตาสดที่อุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหาร แล้วก็มีข้าวเกรียบเตาที่บางกรอบเคี้ยวเพลิน
ถ้ายังติดใจงานฝีมือสวยๆ ต้องรอชมงาน “แพร่คราฟท์” ในช่วงปลายปี ที่รวบรวมงานฝีมือของกลุ่มนักออกแบบท้องถิ่นมาออกร้านในงานเทศกาล โดยกลุ่มแพร่คราฟท์นั้นรวบรวมผลงานดีไซน์สวยที่ถูกพัฒนามาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างการย้อมฮ่อม การมัดย้อม หรืองานไม้ต่างๆ ให้ออกมาเป็นสินค้าสร้างสรรค์และมีเอกลักษณ์
และหากว่ามาเมืองแพร่แล้วยังไม่ได้ชิม “ขนมจีนน้ำย้อย” ก็ถือว่ายังมาไม่ถึง ที่นี่เป็นขนมจีนบีบเส้นสด ตอนจับขนมจีนล้างสะเด็ดน้ำจะมีน้ำย้อยออกมา เป็นที่มาของชื่อขนมจีนน้ำย้อย เสิร์ฟร้อนๆ จานต่อจาน กินคู่กับน้ำพริกน้ำย้อย มีส่วนผสมของพริก กระเทียม และหอมเจียว คลุกเคล้ากับเครื่องปรุงให้รสเด็ดชวนกิน แต่ถ้าจะให้สำรับครบยิ่งขึ้น ต้องมีน้ำเงี้ยวแบบใสและน้ำข้น และผักต้มกินแกล้มกัน
สุโขทัย– ลองใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ที่ “ชุมชนเมืองเก่าสวรรคโลก” กับบรรยากาศย้อนยุคอย่างที่สถานีรถไฟอายุกว่าร้อยปี อาคารโรงพักเก่าสถานีตำรวจภูธรสวรรคโลก และย่านตลาดชุมชนเก่าชาวจีน ซึ่งภายในยังซ่อนผลงานศิลปะยุคใหม่อย่างสตรีทอาร์ทสวยๆ ให้ได้แวะถ่ายรูป
อีกหนึ่งชุมชนท่องเที่ยวของสุโขทัยที่ “บ้านนาต้นจั่น” มาสัมผัสธรรมชาติกับวิถีชุมชนเชิงอนุรักษ์ มานอนพักโฮมสเตย์กับบรรยากาศอบอุ่นแสนสบาย เรียนรู้ภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดต่อกันมาอย่างผ้าหมักโคลน ผ้าผืนสวยสีสันจากธรรมชาติ การทำตุ๊กตาบาร์โหน ยามเช้าขึ้นไปชมวิวที่จุดชมวิวห้วยต้นไฮ กินข้าวเช้าข้าวหุงกระบอกไม้ไผ่(หลามข้าว) และจิบกาแฟในกระบอกไม้ไผ่กับวิวทะเลหมอกยามเช้า แบบนี้หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้ว
ที่บ้านนาต้นจั่นมีเมนูถิ่นแสนอร่อยอย่าง “ข้าวเปิ๊บ” ที่ใช้แป้งข้าวเจ้าละเลงลงบนผ้าขาวบางที่ขึงบนปากหม้อ พอแป้งสุกก็ใส่หมู ผักต่างๆ แล้วพับมุมทั้งสี่ด้าน หรือที่เรียกว่าการเปิ๊บ ตักใส่ชาม ราดด้วยน้ำซุปรสกลมกล่อม ที่มาของเมนูนี้ก็เกิดจากคนสมัยก่อนที่ดัดแปลงข้าวแคบ อาหารพื้นถิ่นให้กลายมาเป็นก๋วยเตี๋ยวนั่นเอง
นครสวรรค์ – พาเที่ยวแลนด์มาร์กใหม่ของนครสวรรค์ “พาสาน” บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำปิงและแม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ต้นกำเนิดของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นอาคารทรงโค้งที่มาบรรจบกันช่วงปลาย เหมือนการรวมตัวของแม่น้ำเป็นหนึ่งเดียว สามารถนั่งเรือข้ามไปชมความงามของสถาปัตยกรรมได้ ส่วนช่วงปกติก็ไปเดินเล่น ถ่ายรูป ชมวิวสวยๆ ได้ ด้านล่างเป็นพื้นที่สาธารณะ ให้มาเดินเล่นออกกำลังกาย หรือจะรอชมพระอาทิตย์ตกยามเย็น
แล้วไปย้อนอดีตชุมชนเก่าแก่ของนครสวรรค์ที่ “ชุมแสง” ที่อาจจะคุ้นชื่อมาจากละครดัง ชุมแสงในอดีตเป็นชุมชนค้าขายที่คึกคักอย่างยิ่ง ส่วนในปัจจุบันเป็นอำเภอเล็กที่เงียบสงบ เหมาะกับการย้อนบรรยากาศในอดีตที่ตลาด กับเรือนไม้แบบคลาสสิก มีสถานีรถไฟ สะพานหิรัญนฤมิต พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ชุมแสงแกลลอรี่ ศาลเจ้าพ่อ-เจ้าแม่ชุมแสง และของกินอร่อยๆ อีกหลายร้าน
ยังคงเที่ยวแบบย้อนยุคกันที่ “ตลาดท่าเรือคลองคาง” จากเดิมที่เป็นท่าเรือเก่า กลายสภาพมาเป็นตลาดย้อนยุคแบบพื้นบ้าน มีของกินคาว หวาน ขนมโบราณ น้ำดื่มต่างๆ จากพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนให้เลือกชิม รวมถึงพืชผักผลไม้สดๆ จากผลผลิตเกษตรกรในชุมชน เลือกซื้อของอร่อยแล้วมานั่งกินรับลมเย็นๆ ริมแม่น้ำ ซึมซับบรรยากาศแสนเพลิดเพลิน
อุทัยธานี – เที่ยวตลาดแบบเรียบง่าย “ตลาดซาวไฮ่” ศูนย์รวมสินค้าเกษตรพื้นบ้าน งานคราฟท์ ของกิน ของใช้ โอทอป และแหล่งรวมผ้าทอของอำเภอบ้านไร่อีกที่หนึ่ง มีสินค้าพื้นบ้านหลากหลายให้เลือกช้อป เดินเพลินๆ ใต้ร่มไม้ใหญ่ ถ้าเหนื่อยก็แวะนั่งพักบนแคร่ไม้ไผ่ที่มีตลอดทางนั่งทานอาหาร พร้อมเสียงดนตรี กับวิถีชาวไร่ที่แสนเรียบง่าย เป็นตลาดที่เดินแล้วอบอุ่น เรียบง่าย มีความสุขใจ
หากเข้ามาในตัวเมืองอุทัยธานี จะเห็น “ยอดเขาสะแกกรัง” ตั้งโดดเด่น เป็นส่วนหนึ่งของวัดสังกัสรัตนคีรี เป็นที่ตั้งพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนกในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (พระชนกจักรี) มีรอยพระพุทธบาทจำลอง ระฆังศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวอุทัยธานีร่วมกันสร้าง และด้านบนนี้ยังเป็นจุดชมวิวเมืองอุทัยธานี สามารถมองเห็นวิวเมืองและแม่น้ำสะแกกรังที่ไหลผ่านบริเวณเมือง สามารถขับรถขึ้นไปด้านบนได้ หรือหากมีแรงก็เดินขึ้นบันได 449 ขั้น ขึ้นไปได้เช่นกันซึ่งด้านหน้าบันไดด้านล่างมีวิหาร หลวงพ่อพุทธมงคลศักดิ์ เป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของชาวอุทัยธานี
ส่วนสิ่งที่ต้องกินให้ได้เมื่อมาถึงอุทัยธานีก็คือ “ขนมปังสังขยา” ในตัวเมืองนี้มีอยู่หลายร้าน ขนมปังสังขยาของอุทัยธานีจะทำสดใหม่ทุกวัน แป้งขนมปังเหนียว นุ่ม หอม ไส้เยอะจนเกือบทะลักออกมา ตัวไส้สังขยามีทั้งสังขยาใบเตยสีเขียว หวานหอมกลิ่นใบเตย และสังขยาชาไทยสีส้ม หวานหอมกลิ่นชา ซื้อมากินเองก็อร่อยกินเพลิน ซื้อเป็นของฝากใครๆ ก็ชอบ
เส้นทางผ้า อารยธรรมอีสาน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้นเป็นอู่อารยธรรมที่สืบทอดกันมายาวนาน มีความหลากหลายของผู้คน ส่งผลต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ความเชื่อ รวมไปถึงการแต่งกายและผืนผ้าที่มีอัตลักษณ์ของตนเอง
เลย – มาที่เมืองเลยต้องไปเที่ยว “เชียงคาน” เดินชมบรรยากาศบ้านไม้ริมแม่น้ำโขง รอชมพระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าในเวิ้งโค้งแม่น้ำโขงที่สวยงามมากแห่งหนึ่งของเมืองไทย พอตกค่ำก็จะมีถนนคนเดินอันคึกคัก บนถนนชายโขงมีทั้งโรงแรม เกสต์เฮ้าส์ ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก ให้เดินเล่นช้อปชมบรรยากาศ ส่วนตอนเช้าก็ห้ามพลาดการตักบาตรข้าวเหนียวที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวเชียงคาน แล้วก็อย่าลืมไปชมทะเลหมอกแบบฟูๆ ฟุ้งๆ ที่ภูทอก จะได้เห็นทิวทัศน์ของเมืองเชียงคานที่ปกคลุมไปด้วยไอหมอก และลำน้ำโขงที่ไหลผ่านแนบชิด
ไม่ไกลจากเชียงคาน มี “หมู่บ้านวัฒนธรรมไทดำ บ้านนาป่าหนาด” หมู่บ้านเล็กๆ ที่ยังสืบสานตำนานและประเพณีวัฒนธรรมไทดำให้ยังคงอยู่ ที่นี่มีศูนย์วัฒนธรรมไทดำ รวบรวมบ้านเรือน ข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ และเป็นที่รวมกลุ่มงานหัตถกรรมของชาวบ้าน มาชมการทอผ้าด้วยวิธีดั้งเดิม และผืนผ้าสวยๆ ก็ยังถูกดัดแปลงมาเป็นผ้าคลุม เสื้อ กระเป๋า และของใช้อื่นๆ เป็นของที่ระลึกให้นักท่องเที่ยว อีกจุดก็คือบ้านพิพิธภัณฑ์ไทดำ เป็นบ้านเก่าที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาเขียวขจี ด้านในมีเครื่องใช้ของชาวไทดำที่ยังอนุรักษ์ไว้
นอกจากเชียงคานแล้ว ก็มีอีกหนึ่งอำเภอของจังหวัดเลย ที่เป็นที่รู้จักในนามแหล่งปลูกไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุด คือ “อำเภอภูเรือ” ดินแดนแห่งสายหมอกและดอกไม้ ในช่วงฤดูปลูกดอกไม้ในพื้นที่อำเภอภูเรือจะจัดตกแต่งดอกไม้ สำหรับนักท่องเที่ยวได้มาชมและถ่ายรูปกันอย่างเต็มอิ่ม พร้อมทั้งสัมผัสแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติมากมาย เช่น อุทยานแห่งชาติภูเรือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง และภูบักได
บุรีรัมย์ – ชมความยิ่งใหญ่ของสนามฟุตบอล “สโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” เข้าไปเดินชมและถ่ายรูปได้ มีภาพสวยๆ ของสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ ให้บรรยากาศการนั่งชมฟุตบอลติดขอบสนาม ออกมาด้านนอกก็จะมีร้านขายของที่ระลึกของสโมสร ซึ่งกลายเป็นของที่ระลึกประจำจังหวัดไปแล้ว
ส่วนที่ “ชุมชนโบราณบ้านสนวนนอก” หมู่บ้านเล็กๆที่มีความเป็นอยู่เรียบง่าย ใช้ภาษาพื้นถิ่นเขมร สืบสานการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน ผ้าไหมลายดั้งเดิมที่สืบทอดกันมาก็คือ ผ้าไหมหางกระรอก ที่ถือเป็นเอกลักษณ์ลายผ้าของบ้านสนวนนอก ในหมู่บ้านมีให้ชมตั้งแต่การปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม ฟอก ย้อม มัดหมี่ ทอผ้า และแปรรูป
มาถึงผ้าสวยๆ ของบุรีรัมย์ต้องยกให้ “ผ้าภูอัคนี” ผ้าย้อมดินภูเขาไฟจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ ได้ผ้าที่ย้อมออกมาสีสันสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ของหมู่บ้านเจริญสุข ที่ใช้ดินภูเขาไฟก็เพราะหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับเขาพระอังคาร ภูเขาไฟเก่าแก่ที่ดับแล้ว นำดินภูเขาไฟมาผสมน้ำแล้วย้อมสีผ้า จะได้ออกมาเป็นสีน้ำตาลอ่อน-เข้มนวลตา
มหาสารคาม – เริ่มยามเช้าด้วยความเป็นมงคล กับการมาตักบาตรบนสะพานไม้ทางเข้า “วัดป่าเกาะเกิ้ง” เดิมทีชาวบ้านจะต้องพายเรือข้ามแม่น้ำชีไปทำบุญที่วัด ภายหลังมีการร่วมมือกันสร้างสะพานไม้ขึ้นมา ความยาวประมาณ 145 เมตร ไม้ที่นำมาสร้างส่วนใหญ่ก็ได้มาจากการบริจาค ภายหลังจากมีสะพานแล้วก็สามารถเดินข้ามไปทำบุญที่วัดได้สะดวกขึ้น แล้วก็ยังมีการตักบาตรในยามเช้าบนสะพาน และยังกลายเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวของมหาสารคาม
ภูมิปัญญาชาวอีสานที่ยังสืบทอดต่อกันมาอย่างการปั้นหม้อ ก็มีให้ชมกันที่ “หมู่บ้านปั้นหม้อ” อ.เมืองมหาสารคาม เป็นหมู่บ้านที่ยังสืบสานวิธีการปั้นหม้อดินเผาแบบดั้งเดิมอยู่ ดินที่ใช้ก็มาจากหนองน้ำใกล้หมู่บ้าน นำมาปั้นขึ้นรูปด้วยมือโดยความชำนาญและเครื่องมือโบราณ ก่อนจะนำไปตากแดดและเผา ออกมาเป็นหม้อดินเผารูปแบบดั้งเดิม และมีการพัฒนามาเป็นแจกัน กระถาง ถ้วยชาม และเครื่องใช้อื่นๆ ตามความต้องการ
ส่วนผ้าทอเอกลักษณ์ของมหาสารคามก็คือ “ผ้าไหมมัดหมี่ลายสร้อยดอกหมาก” แต่เดิมเป็นลายผ้าโบราณของท้องถิ่นอีสาน แต่เกือบจะสูญหายไปเนื่องจากเป็นลายที่ยากและใช้เวลานาน ผู้ทอต้องมีฝีมือ มีความชำนาญ ภายหลังมีการจัดประกวดผ้าไหมประจำจังหวัด โดยลายสร้อยดอกหมากได้รับรางวัลชนะเลิศ ทางจังหวัดมหาสารคามจึงได้กำหนดให้เป็นลายเอกลักษณ์ประจำจังหวัด หากอยากชมขั้นตอนการทอ และชมผ้าสวยๆ ต้องมาที่บ้านหนองบัว อ.กุดรัง
สกลนคร – เที่ยวชุมชนเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีที่ “บ้านท่าแร่” หมู่บ้านที่มีประชากรนับถือศาสนาคริสต์มากที่สุดในประเทศไทย มาเดินชมบ้านและอาคารโบราณที่ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นแบบตึกปูนทรงยุโรป สถาปัตยกรรมแบบฝรั่งเศสผสมเวียดนาม ในหมู่บ้านยังเป็นที่ตั้งของอาสนวิหารอัครเทวดามิคาแอล โบสถ์ขนาดใหญ่รูปทรงคล้ายเรือ และในช่วงวันคริสต์มาส ห้ามพลาดเทศกาลแห่ดาวของชาวท่าแร่ มีขบวนแห่ดาว และแต่ละบ้านก็จะตกแต่งโคมไฟรูปดาวไว้ที่หน้าบ้าน
ถ้าอยากเที่ยวแบบธรรมชาติ แนะนำที่ “หนองหาร” ทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืด มีนกน้ำหลากชนิด มีจุดชมวิวความกว้างใหญ่ไพศาลของหนองหาร แล้วก็ยังมีเรือรับส่งไปชมเกาะดอนสวรรค์ เกาะขนาดใหญ่กลางบึงหนองหาร ด้านบนเกาะมีโบสถ์โบราณตั้งอยู่ สามารถเดินขึ้นไปชมได้
และที่สกลนคร ยังมีผ้าสวยๆ ที่ขึ้นชื่อคือ ผ้าคราม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านมาแต่ดั้งเดิม สมัยก่อนชาวบ้านจะหว่านครามก่อนทำนา แล้วเกี่ยวครามก่อนจะเกี่ยวข้าว จากนั้นก็เตรียมผ้าฝ้ายมาย้อมคราม ทำเป็นผ้าทอหรือสร้างลวดลายต่างๆ ปัจจุบันร้านผ้าครามในสกลนครมีมากมาย แต่หากอยากเดินช้อปแบบจริงจังแนะนำให้มาที่ “ถนนคนเดินผ้าคราม” ที่อยู่ด้านหน้าวัดพระธาตุเชิงชุม จะเปิดตลาดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงเย็นไปถึงค่ำ ในถนนคนเดินก็จะมีร้านขายผ้าครามหลากหลายแบบ หลากหลายสไตล์ ทั้งเสื้อผ้า เครื่องประดับ ของใช้ต่างๆ เรียกว่าช้อปผ้าครามกันได้จุใจ
ยโสธร – ชวนไปชมความงดงามของ “วัดอัครเทวดามิคาแอล” ที่บ้านหนองซ่งแย้ เป็นโบสถ์คริสต์ในรูปแบบสถาปัตยกรรมไทย ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุในการก่อสร้าง เป็นโบสถ์ไม้ที่ใหญ่ที่สุดในไทย โดยได้รับการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในการก่อสร้าง จึงทำให้สวยงามแปลกตากว่าที่อื่นๆ และสัมผัสได้ถึงพลังศรัทธา แล้วยังมีหอระฆังที่สร้างแยกจากโบสถ์ เป็นหอระฆังสูงเหมือนตามวัดไทยทั่วไป
อีกหนึ่งภูมิปัญญาของชาวอีสานก็คือการทำหมอนขิด หมอนที่มีสีสันและลวดลายสวยงาม ที่ “บ้านศรีฐาน” เป็นหมู่บ้านทำหมอนขิดมาจนถึงปัจจุบัน การทำหมอนขิดของที่นี่เริ่มตั้งแต่การเย็บผ้าทำปลอกหมอน การขึ้นโครง ยัดนุ่น จนกลายมาเป็นหมอนขิดที่เราคุ้นเคย มีตั้งแต่รูปร่างดั้งเดิมเป็นรูปสามเหลี่ยม หรือหมอนหนุนแบบสี่เหลี่ยม รวมถึงหมอนขิดในรูปแบบอื่นๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้น เช่น หมอนรองคอ หมอนอิง ที่นอนพับ ถ้าแวะมาที่บ้านศรีฐานก็อย่าลืมซื้อหมอนขิดกลับไปหนุนนอนกันคนละใบสองใบ
สุรินทร์ – สุรินทร์เป็นถิ่นช้าง ต้องมาที่ “หมู่บ้านช้างบ้านตากลาง” หรือ “ศูนย์คชศึกษา” เป็นหมู่บ้านเลี้ยงช้างที่ใหญ่ที่สุดในโลก คนในหมู่บ้านแต่ละครัวเรือนจะเลี้ยงช้างไว้เสมือนเป็นสมาชิกในครอบครัว ชาวบ้านตากลางดั้งเดิมเป็นชาวส่วย (กูย) ที่มีความชำนาญในการคล้องช้างป่า ฝึกหัด และเลี้ยงช้าง ซึ่งยังสืบทอดภูมิปัญญาและพิธีกรรมเกี่ยวกับช้างไว้จนถึงปัจจุบัน ในหมู่บ้านช้างยังมีสนามแสดงความสามารถของช้างแสนรู้ อาคารพิพิธภัณฑ์ ศาลปะกำ และมีงานประจำปี “มหัศจรรย์งานแสดงช้างสุรินทร์” ในช่วงปลายปี โดยจะมีการแสดงช้าง และงานเลี้ยงอาหารช้างที่ยิ่งใหญ่มากๆ และยังมี โครงการโลกของช้าง หรือ “Elephant World” เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของสุรินทร์ จัดแสดงเรื่องราวของช้างเป็นแหล่งศึกษาข้อมูลทางวิชาการของช้าง มีการออกแบบสถาปัตยกรรมอย่างสวยงามให้มีความรู้สึกแบบ อียิปต์แห่งสุรินทร์ โดยแบ่งออกเป็น 8 ส่วน ได้แก่ ซุ้มประตูทางเข้า สนามแสดงช้าง สระช้างเล่นน้ำ หอชมทิวทัศน์อิฐ โรงภาพยนตร์ พิพิธภัณฑ์ และการท่องไพร ที่มีทั้งแบบท่องไพรปกติ และท่องไพรแบบแอดเวนเจอร์
โครงการคชอาณาจักร จังหวัดสุรินทร์ เป็นหน่วยงานในสังกัดองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีวัตถุประสงค์การก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือช้างเร่ร่อนที่เป็นปัญหาอยู่ในเมืองใหญ่ในปัจจุบัน ควาญช้างนำช้างมาเดินเร่ขายอาหารช้าง จากสภาพความแออัดของเมืองหลวงทำให้ช้างเกิดการบาดเจ็บ และล้มตายจากอุบัติเหตุ บางครั้งเกิดความเครียด อาละวาด ทำร้ายประชาชนให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชเสาวนีย์ ในคราวถวายรายงานการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ป่าหายากขององค์การสวนสัตว์ โปรดให้มีการดูแลและอนุรักษ์พันธุ์ช้างไทยด้วยเนื่องจากช้างเป็นสัตว์สำคัญ คู่บ้าน คู่เมือง และถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของชาติ ควรได้รับการคุ้มครองและปกป้องให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และองค์การสวนสัตว์ได้น้อมนำมาปฏิบัติ เป็นที่มาของโครงการนำช้างคืนถิ่น
นอกจากนี้ ยังมีผ้าสวยๆ ของเมืองสุรินทร์ ต้องไปชมที่ “หมู่บ้านทอผ้าไหม บ้านท่าสว่าง” เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงหัตถกรรมผ้าไหม คนในหมู่บ้านมีฝีมือด้านการทอผ้าไหมโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของสุรินทร์ ด้วยเทคนิคการทอผ้ายกทองแบบโบราณผสมผสานกับลวดลายที่วิจิตรงดงาม ผ้าทอแต่ละผืนต้องใช้ความชำนาญ ใช้ช่างทอจำนวนมาก และใช้เวลาทอเป็นเวลานาน ลวดลายละเอียด เนื้อผ้านุ่มแน่น มีทั้งผ้าที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงผ้าไทยลายวิจิตรงดงามที่ใช้ในงานพิธีสำคัญต่างๆ
สนุกริมสายน้ำ ท่ามกลางธรรมชาติ
ภาคตะวันออกมีที่เที่ยวหลากสีสัน ทั้งธรรมชาติเขียวขจี ขุนเขา สายน้ำ ป่าชายเลน ชุมชนสวย ๆ ไปจนถึงตลาดช้อปสนุก และของกินอร่อย ๆ
ตราด – ชุมชนเล็ก ๆ อย่าง “ชุมชนบ้านแหลมมะขาม” พื้นที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล มีความโดดเด่นในเรื่องของทรัพยากรทางธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วย ป่าชายเลนและสัตว์ทะเล รวมทั้งเป็นแหล่งชุมชน 3 ศาสนา 3 วัฒนธรรมที่น่าศึกษา โดยมีจุดท่องเที่ยวที่สำคัญอย่าง เจ้าพ่อต้นมะขามโพรง ศูนย์เรียนรู้ตามรอยเสด็จฯ รัชกาลที่ 5 รวมทั้งวัดแหลมมะขาม ที่มี “โต๊ะวลีย์” ศาสนสถานที่สำคัญของชาวมุสลิม ตั้งอยู่ภายใน กิจกรรมที่น่าสนใจ ล่องเรือชมป่าชายเลน เย็บงอบ สานคลุ้ม งมหอยปากเป็ด การสานพัดด้วยไม้ไผ่ การทำอาหาร-ขนมพื้นบ้าน ให้ลองทำกันสนุกๆ ด้วย
ป่าชายเลนอุดมสมบูรณ์อีกที่ของเมืองตราดก็คือ “ชุมชนบ้านท่าระแนะ” พื้นที่กว้างใหญ่นับพันไร่ ไฮไลท์ของที่นี่ก็คือการนั่งเรือไปชม “ลานตะบูน” ต้นไม้ที่อยู่ในป่าชายเลน มีรากลอยอยู่บนพื้นดิน แผ่รากอยู่บนดินโคลนของป่าชายเลน ถักทอกันเป็นคลื่นสานไปมา ราวกับผืนป่าในเทพนิยาย
ได้เวลาช้อปปิ้งหาของกินให้อิ่มท้อง มาที่ ”ตลาดซอยไร่รั้ง” ตลาดใจกลางเมืองตราดที่เปิดขายอาหารพื้นบ้านและกับข้าวสำเร็จรูป เดินเลือกเดินชิม ซื้อติดมือกลับไปกินบ้าน มีทั้งของคาว ของหวาน อาหารกินเล่น ผลไม้ต่างๆ ช่วงเช้าจะเป็นตลาดสด เน้นเรื่องอาหารทะเลหลากหลายชนิด ส่วนตอนเย็นจะกลายเป็นตลาดโต้รุ่ง มีให้เลือกอร่อยจนอิ่มแน่นท้อง
จันทบุรี – อ่างเก็บน้ำห้วยตาโบ หรือที่บางคนเปรียบเป็น “ปางอุ๋งแห่งจันทบุรี” ตั้งอยู่ในเขตหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วที่ 2 ท่ามกลางความงดงามของทะเลสาบที่ล้อมรอบด้วยขุนเขาและป่าไม้อุดมสมบูรณ์ เรียกว่ามองไปก็คล้ายคลึงกับวิวของปางอุ๋ง จ.แม่ฮ่องสอน ไม่น้อย มีทั้งจุดให้ชมวิว ถ่ายรูปกับอ่างเก็บน้ำและขุนเขาได้อย่างเต็มๆ ตา และนอกจากจะมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติให้เข้าไปเดินชมป่าแล้ว ใครที่อยากสัมผัสบรรยากาศแบบเต็มอิ่มก็สามารถกางเต็นท์ที่บริเวณริมอ่างเก็บน้ำได้ กลางคืนนอนมองดาวเต็มฟ้า ยามเช้าบางวันตื่นมาอาจได้พบกับสายหมอกลอยเรี่ยผืนน้ำและคลุมผืนป่า สวยงามจนนึกว่าอยู่ปางอุ๋งจริงๆ เข้าไปอีก
ชมโบสถ์ที่สร้างด้วยไม้ทั้งหลัง แกะสลักลวดลายงดงาม ที่ “วัดเขาชวัง” อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี โดยตัวโบสถ์ได้นำเรื่องราวพุทธประวัติ นักษัตร 12 ราศี วรรคดีพระเวสสันดรชาดกและวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยโบราณ ทำจากไม้สักแกะสลักทั้งหลังมีทิวทัศน์ที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์
อีกเรื่องที่เมืองจันท์โดดเด่นมากๆ ก็คือผลไม้ “สวนผลไม้เมืองจันท์” มีมากมาย เปิดให้เช้าไปชมและชิมผลไม้สดๆ จากต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูกาลผลไม้ (ราวเดือนเมษายน-มิถุนายน) ที่จะมีผลไม้หลากหลายชนิดทยอยออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็น มังคุด เงาะ ทุเรียน สละ ฯลฯ ถ้ามาที่เมืองจันท์ในช่วงฤดูกาลผลไม้ รับรองว่าต้องฟินมากๆ เพราะมีให้ซื้อให้ชิมกันแบบจุใจ
สระแก้ว – เขาฉกรรจ์ มีร้านคาเฟ่ชิค ๆ น่ารัก “Wood House Cafe” คาเฟ่วิวอลังการในย่านเขาฉกรรจ์ที่ใครๆ ก็อยากแวะมาถ่ายรูปเช็คอินกับวิวทุ่งดอกดาวกระจายสีสันสดใส กว้างสุดสายตา มีเขาฉกรรจ์ ตั้งตระหง่านอยู่ด้านหลัง เรียกว่าถ่ายมุมไหนก็สวยไปหมด ส่วนยามเย็นก็เป็นอีกไฮไลท์ที่ไม่ควรพลาดในย่านเขาฉกรรจ์ กับการรอชมค้างคาวนับล้านบินเป็นสาย พาดผ่านท้องฟ้าในแสงพลบค่ำ โดยเฉพาะนั่งชมจากคาเฟ่ก็ยิ่งเหมือนได้ที่นั่งชั้นดีไปด้วย ต่ออีกนิดที่ “วัดถ้ำเขาฉกรรจ์” ตั้งอยู่บนเขาฉกรรจ์ ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนสามลูกเรียงติดกัน และมีบันไดประมาณ 300 ขั้น เพื่อขึ้นไปยังยอดเขาจุดชมวิว เห็นทัศนียภาพที่สวยงามของอำเภอเขาฉกรรจ์อย่างชัดเจน
ความน่าอัศจรรย์ของธรรมชาติ สร้างให้ “ละลุ” มีรูปลักษณ์แปลกตา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ทำให้เกิดการยุบตัวและพังทลายของดิน ก่อนจะถูกลมและฝนกัดเซาะเป็นเวลานาน กลายมาเป็นเสาดินรูปร่างต่างๆ ที่ชวนให้มีจินตนาการไปต่างๆ นานา เช่น หอคอย ปราสาท เจดีย์ เป็นต้น
ธรรมชาติอีกจุดของสระแก้วต้องไปที่ “อุทยานแห่งชาติปางสีดา” ที่นี่มีไฮไลท์อยู่ที่น้ำตกปางสีดา น้ำตกขนาดกลางที่ไหลลดหลั่นลงมาเป็นชั้น ๆ แล้วก็ต้องมาชมผีเสื้อแสนสวยหลากสายพันธุ์กว่า 300 ชนิด จนได้รับฉายาว่าเป็นเมืองผีเสื้อแห่งผืนป่าตะวันออก และทุกๆ ปีจะมีการจัดเทศกาลดูผีเสื้อปางสีดา พร้อมนิทรรศการและให้เทคนิคการมาชมผีเสื้อจากเจ้าหน้าที่อุทยาน
นครนายก – เมืองที่อยู่ไม่ไกลจาก กทม. แต่มีความเป็นธรรมชาติสูงมาก อย่างที่ “Montreux café and farm” ที่เป็นทั้งคาเฟ่ ร้านอาหาร และฟาร์ม มานั่งชิมอาหารอร่อยๆ จิบเครื่องดื่มเย็นๆ ในบรรยากาศสบายๆ ริมทุ่งนา มีซุ้มให้นั่งเล่น พร้อมกิจกรรมสนุกๆ ให้ลองทำ เหมือนได้มาพักผ่อนท่ามกลางความสดชื่นของธรรมชาติ
แวะไปถ่ายรูปกับ “ซุ้มป่าไผ่ วัดจุฬาภรณ์วนาราม” เป็นอุโมงค์ต้นไผ่ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ยอดไผ่จะโน้มตัวเข้าหากันจนกลายเป็นอุโมงค์ระหว่างทางเดินที่ทอดยาวหลายเมตร ยิ่งถ้ามีพระอาทิตย์ส่องแสงลอดผ่านอุโมงค์ลงมาก็ยิ่งทำให้งดงามมากขึ้น
ทริปพักผ่อนใกล้กรุง “เขื่อนขุนด่านปราการชล” พาชีวิตไปเที่ยวแบบสโลว์ไลฟ์ พร้อมนั่งเรือเที่ยวเขื่อนชม 3 น้ำตกชื่อดัง คือ น้ำตกผางามงอน น้ำตกคลองคราม และน้ำตกช่องลม และสัมผัสธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อากาศบริสุทธิ์ ลมธรรมชาติที่แสนเย็นสบาย ที่ได้ฉายาว่า สวิตเซอร์แลนด์เมืองไทย
ปราจีนบุรี – เมื่อพูดถึงสมุนไพรแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของปราจีนบุรี ต้องนึกถึง “ภูมิภูเบศร” ศูนย์การเรียนรู้สมุนไพร และภูมิปัญญาสุขภาพบางเดชะ มาเยือนที่นี่ นักท่องเที่ยวจะได้ชมพิพิธภัณฑ์หมอไทย (หมื่นชำนาญแพทยา) หมอหลวงในรัชกาลที่ 5 อายุกว่า 100 ปี ที่นี่เป็นเมืองสมุนไพร (Herbal City) ภายใต้แนวคิด พึ่งตนเอง อนุรักษ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม นอกจากได้ชมแล้วยังมีกิจกรรมที่ร่วมทำ ได้แก่ การทำยาสีฟัน ยาดมสมุนไพร
“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี” เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์และโบราณคดีประจำภูมิภาคตะวันออกของไทย จัดแสดงโบราณวัตถุพบในจังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง และตราด มีพื้นที่ดินอันอุดมสมบูรณ์ การคมนาคมติดต่อสะดวกทั้งทางบกและทางทะเล ส่งผลให้วัฒนธรรมของภาคนี้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมกับวัฒนธรรมอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งในเรื่องสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์
เปลี่ยนบรรยากาศมาเที่ยวสไตล์ยุโรปกันบ้างที่ “เดอะ เวโรน่า แอท ทับลาน” แหล่งชอปปิ้งและจุดพักผ่อนที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเมืองเวโรน่า ประเทศอิตาลี เดินเล่นผ่านอาคารสีสันสวยงาม แวะถ่ายรูปสวยๆ ตามจุดต่างๆ หรือจะล่องเรือ นั่งรถม้า ก็ได้อารมณ์เมืองยุโรปไม่น้อยเลย
เที่ยวสุขใจ ไหว้พระ ช้อปตลาดชุมชน
ภาคกลางของไทยถือว่าเป็นแหล่งอู่ข้าวอู่น้ำ มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหาร มีของกินอร่อยมากมาย มีตลาดให้เดินช้อปชิมชิลล์ ปิดท้ายด้วยการไปไหว้พระเพื่อความเป็นสิริมงคล
สมุทรสงคราม – จังหวัดที่มีพื้นที่เล็กที่สุดในประเทศไทย แต่มีที่เที่ยวชื่อดังอย่าง ”ตลาดน้ำอัมพวา” ที่จะคึกคักและคลาคล่ำไปด้วยผู้คนในช่วงวันหยุด มาถึงแล้วก็ต้องเดินเล่นไปในตลาด แวะชิมของอร่อย ผลไม้สดๆ แล้วก็มาเดินเล่นริมน้ำ ดูบรรยากาศ พอเริ่มพลบค่ำก็ไปลงเรือตามหาหิ่งห้อยตัวน้อยที่คอยส่องแสงกระพริบระยิบระยับ
ส่วนที่ “คลองโคน” เป็นพื้นที่ป่าชายเลนบริเวณปากน้ำแม่กลอง ชาวบ้านที่นี่นิยมทำประมง จับปลา จับเคยเพื่อทำกะปิ ซึ่งกะปิคลองโคนก็ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติดีมากๆ ในคลองโคนมีโฮมสเตย์หลายแห่งให้มาพักผ่อนกับธรรมชาติ หรือใครที่ชอบกินอาหารทะเล ที่นี่ก็มีหลายร้าน แต่ละร้านก็มีอาหารทะเลสดๆ ปรุงรสจัดจ้านให้เลือกลองชิมกันตามชอบ
แล้วก็พากันไปเที่ยวต่อที่ “วัดบางกุ้ง” ซึ่งในอดีตเคยเป็นที่ตั้งค่ายตั้งแต่สมัยปลายกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบัน หากมาถึงวัดก็จะได้เห็น “โบสถ์ปรกโพธิ์” ตัวโบสถ์ถูกปกคลุมด้วยรากไม้ใหญ่ 4 ชนิดทั้งโพธิ์ ไทร ไกร และกร่าง รากไม้เหล่านี้ช่วยยึดตัวโบสถ์ที่เก่าแก่ให้คงรูปอยู่ได้ ด้านในประดิษฐานหลวงพ่อนิลมณี ที่เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวบ้าน และภายในวัดยังมีอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และมีรูปปั้นการใช้ศิลปะแม่ไม้มวยไทยในท่าต่างๆ
มาเสาะหา “น้ำตาลมะพร้าว” ที่รสชาติหวานนุ่มนวล และกลิ่นหอมมากๆ ที่สมุทรสงครามยังมีการทำน้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ กันอยู่หลายแห่ง ด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม คือการใช้น้ำตาลสดจากงวงมะพร้าว นำมาเคี่ยวจนหนืดข้น น้ำตาลมะพร้าวแท้ๆๆ จะสีเข้มเพราะเคี่ยวด้วยเตาฟืน ไม่เหลวหรือแข็งจนเกินไป มีกลิ่นหอมอวลขึ้นจมูก หวานนุ่มนวลไม่บาดคอ
ราชบุรี – ที่ราชบุรีก็มีตลาดน้ำหลายแห่ง แต่ตลาดเก่าแก่ก็คือ “ตลาดน้ำเหล่าตั๊กลัก” แต่เดิมนั้นตลาดน้ำดำเนินสะดวกขายกันอยู่ที่บริเวณปากคลองลัดราชบุรี (คลองลัดพลี) ที่แยกไปจากคลองดำเนินสะดวก หรือบริเวณที่เรียกว่า “ตลาดเหล่าตั๊กลัก” (ตลาดเก่า) ในปัจจุบัน ซึ่งตอนนี้ หากใครมาเดินเที่ยวตลาดน้ำดำเนินสะดวก ก็สามารถเดินลัดเลาะข้ามสะพานมาชมบรรยากาศเก่าๆ ที่ตลาดเหล่าตั๊กลักได้ ยังมีบ้านเรือนไม้ริมน้ำ ร้านค้าเก่าแก่ และศาลเจ้าตั้งอยู่
แล้วมาชมหุ่นขี้ผึ้งเสมือนจริงที่ “ณ สัทธา อุทยานไทย” ด้านในมีหุ่นขี้ผึ้งบุคคลสำคัญหลากหลายวงการ แบ่งเป็นโซนชมธรรมชาติ เรือนไทย ถ้ำพุทธชาดก ฯลฯ เดินเล่นไปเรื่อยๆ แบบได้ความรู้ ท่ามกลางความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ มีบริการให้เช่าชุดไทยเดินชมด้านใน ได้บรรยากาศไทยๆ ถ่ายรูปก็สวยงาม
และที่ราชบุรีก็ถือว่าเป็นเมืองโอ่ง โดยเฉพาะโอ่งมังกรที่มีชื่อเสียงมาก ไปชมกันที่ “เถ้าฮงไถ่” จากเดิมที่ปั้นเฉพาะโอ่งมังกร ตอนนี้ก็มีสินค้าหลากหลายมากขึ้น มีการทำเซรามิกรูปร่างทันสมัย ใส่สีสันสวยงาม กลายเป็นของประดับตกแต่งและของใช้ที่ทันสมัย
ส่วนของกินขึ้นชื่อของราชบุรีก็คือ “เต้าหู้ดำ” ที่โพธาราม เป็นเต้าหู้ที่ทำมาจากถั่วเหลืองแท้ๆ นำไปต้มกับเครื่องพะโล้ อบเชย โป๊ยกั๊ก ซีอิ๊วดำ น้ำตาลทรายแดง เกลือทะเล โดยใช้ไฟปานกลางเคี่ยวเต้าหู้ไปเรื่อยๆ จนน้ำพะโล้ซึมเข้าเนื้อ ได้เต้าหู้เนื้อนุ่ม รสหวานกลมกล่อม หอมเครื่องพะโล้ จะกินเปล่าๆ หรือนำไปต้มผัดแกงทอดได้หลายเมนู
ชัยนาท – อาจจะเป็นเมืองที่หลายคนไม่ค่อยคุ้นเคย เพราะปกติจะขับรถผ่านเลยไป แต่ชัยนาทมีความน่าสนใจกว่าที่คิด อย่างที่ “ชุมชนลาวเวียง บ้านเนินขาม” ชาวลาวเวียงที่บ้านเนินขาม อพยพมาจากลาวในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยมีภูมิปัญญาการทอผ้าติดตัวมาด้วย มีอัตลักษณ์ในการสวมเสื้อจกหม้อ เป็นผ้าดิบ ไหล่ตก มีด้ายสีแดงของชายเสื้อ ปลายแขนเสื้อก็มีด้ายสีแดงห้อยออกมา แล้วก็ยังมีผ้าขาวม้า 5 สี และผ้าซิ่นตีนจก มาที่บ้านเนินขาม มาเดินเที่ยวชุมชน ดูการทอผ้าแบบดั้งเดิม เรียนรู้ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี และภาษาของชาวลาวเวียงที่ยังคงอนุรักษ์ไว้
อัตลักษณ์ลายผ้าทอของบ้านเนินขามก็คือ “ผ้าทอลายใบช่อมะขาม” สะท้อนมาจากชุมชนลาวเวียงที่มีต้นมะขามล้อมรอบ โดยการทอจะต้องใช้ความละเอียดละออและใช้เวลาถึง 3 เดือนต่อการทอผ้า 1 ผืน โดยจะเน้นใช้สี 5 สี ได้แก่ สีเขียว สีเหลือง สีแดง สีส้ม และสีขาว ซึ่งถือเป็นสีสิริมงคลตามเรื่องเล่าจากบรรพบุรุษ
ส่วนของกินท้องถิ่นที่ต้องมาชิมให้ได้ก็คือ “ส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวา” มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่ อ.มโนรมย์ ว่ากันว่าส้มโอพันธุ์ขาวแตงกวาชัยนาทเป็นส้มโอที่ดีที่สุดในไทย เพราะมีถุงส้มใหญ่ ปอกง่าย รสหวานอมเปรี้ยว ไม่แฉะน้ำ กรอบอร่อย มีให้ชิมในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ถ้าไปเที่ยวชัยนาทในช่วงนี้ก็ต้องลองชิมให้ได้สักครั้ง
ลพบุรี – มาเที่ยวลพบุรี ต้องแวะมาไหว้พระที่ “วัดเขาสมอคอน” เป็นวัดเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตำนานของเขาสมอคอนมีหลายตำนาน แต่เชื่อกันว่าที่นี่เป็นเหมือนสำนักตักศิลาในสมัยโบราณ เป็นสถานศึกษาศิลปะวิทยาการต่างๆ ด้านในวัดมีถ้ำต่างๆ มากมาย บางถ้ำมีพระพุทธไสยาสน์ประดิษฐานอยู่ ส่วนบนเขาสมอคอนก็มีรูปปั้นหนุมานแบกเขาสมอคอน สามารถขึ้นไปชมวิวมุมสูงได้ นอกจากนี้ภายในวัดยังเป็นที่เก็บสังขารของหลวงพ่อบุญมี และหลวงพ่อฉลวย เกจิอาจารย์ชื่อดังที่มีสังขารไม่เน่าเปื่อย
ในตัวเมืองลพบุรี มีโบราณสถานอยู่หลายแห่ง ที่สำคัญก็คือ “พระนารายณ์ราชนิเวศน์” ซึ่งเป็นพระราชวังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชโปรดให้สร้างขึ้น เนื่องจากได้สร้างลพบุรีให้เป็นราชธานีแห่งที่สองแล้ว ภายในพระราชวังปัจจุบันนี้ถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์ โดยยังมีพระที่นั่ง และสิ่งก่อสร้างที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชหลงเหลือให้ชมอยู่ และในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จะมีการจัดงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีการแสดงแสงเสียง เดินชมตลาดย้อนยุค ใส่ชุดไทยชมวัง
จากนั่นมาเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร “บ้านมหาสอน” เรียนรู้การทำเกษตรวิถีชุมชนริมแม่น้ำบางขาม มานั่งอีแต๋นเที่ยวในชุมชน ชมบ้านไทย วิถีชาวนาไทย การเกี่ยวข้าว ชมการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง ล่องแพเปียกยามเย็น ชิมอาหารพื้นบ้านที่ได้จากวัตถุดิบสดๆ ในชุมชน แล้วก็เลือกซื้อผลผลิตทางการเกษตรที่ปลอดสารเคมี
อย่าลืมชิม “ส้มฟัก” ภูมิปัญญาการถนอมอาหารของชาวบ้าน ใช้เนื้อปลามาหมักก้วยเกลือ ข้าวสุก และกระเทียม นวดจนเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วหมักทิ้งไว้ให้ออกรสเปรี้ยว คล้ายๆ กับการทำแหนมด้วยเนื้อปลา ถ้าหมักได้ที่ รสชาติจะออกเปรี้ยวนำ นำไปย่าง ทอด อบ หรือปรุงเป็นเมนูอื่นๆ ถือว่าเป็นเมนูท้องถิ่นและเป็นของฝากอร่อยๆ จากลพบุรี
สิงห์บุรี – พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของชาวสิงห์บุรีคือพระนอนจักรสีห์ ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดพระนอนจักรสีห์วรวิหาร” วัดเก่าแก่ของเมืองสิงห์บุรี พระนอนจักรสีห์เป็นพระพุทธรูปไสยาสน์ (พระนอน) ปางโปรดอสุรินทราหู เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น องค์พระมีความยาว 1 เส้น 3 วา 2 ศอก 1 คืบ 7 นิ้ว ใครที่ผ่านไปผ่านมาก็มักจะแวะมาสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง
เสร็จแล้วแวะเที่ยวตลาดบรรยากาศย้อนยุคที่ “ตลาดไทยย้อนยุคบ้านระจัน” ที่ตั้งอยู่ด้านในวัดโพธิ์เก้าต้น บรรยากาศในตลาดเป็นเหมือนตลาดยุคก่อน พ่อค้าแม่ค้าก็แต่งกายย้อนยุค ร้องเรียกลูกค้าด้วยคำโบราณ อาหารการกินก็มีแต่ของอร่อยท้องถิ่น เดินเล่นช้อปปิ้ง เลือกซื้อของกินแล้วมานั่งเล่นริมน้ำสบายๆ ก็ได้
ส่วนของดีเมืองสิงห์บุรีต้องไม่พลาด “ปลาช่อนแม่ลา” เนื้อปลานุ่มแน่นเหนียวอร่อย เป็นปลาธรรมชาติจากลำน้ำแม่ลา แม้ปัจจุบันแทบจะไม่มีปลาจากธรรมชาติแล้ว แต่ก็มีการเพาะเลี้ยงอยู่ในลำน้ำแม่ลาเช่นเดิม ถ้าใครอยากซื้อหาปลาช่อนแม่ลา ที่สิงห์บุรีก็มีวางขายอยู่หลายๆ ร้าน
สุพรรณบุรี – ที่สุพรรณบุรีก็มีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ให้ได้เรียนรู้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ อู่ทอง” เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงหลักฐานในยุคทวารวดีได้สมบูรณ์มากที่สุดอีกแห่งของไทย ย้อนเวลาไปเรียนรู้เมืองโบราณอู่ทอง ที่ยังคงเหลือร่องรอยโบราณวัตถุอยู่มากมาย เมืองอู่ทองในสมัยโบราณนั้นเป็นศูนย์กลางของศาสนาพุทธ เป็นเส้นทางการค้า และชุมชนโบราณที่สำคัญ
ใครเป็นสายช้อปชิมชิลล์ ต้องแวะมาที่ “ตลาดน้ำสะพานโค้ง” มาถึงที่นี่ก็จะเห็นสุ่มปลายักษ์เป็นอย่างแรก ทำขึ้นมาจากไม้ไผ่สานเป็นสุ่มปลายักษ์ใหญ่ สามารถขึ้นไปชมวิวด้านบนได้ จะสามารถมองเห็นตลาดน้ำด้านล่าง ลำคลอง และวิวทุ่งนาเขียวขจี ส่วนที่ตลาดมีของอร่อยให้เลือกชิมหลายร้าน เดินลัดเลาะไปตามสะพานไม้ไผ่ที่ทอดตัวเป็นแนวยาว มีมุมให้ถ่ายรูป และโซนนั่งพักกินของอร่อย
ส่วนที่ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีน มี “ชุมชนบ้านแหลม” ชุมชนน่ารักที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม มาเรียนรู้แบบสนุกสนานกับฐานต่างๆ ทั้งการทำหมวกและกระเป๋าสานจากผักตบชวา ทำธูปหอม ลูกประคบสมุนไพร ทำน้ำพริกเผาแบบโบราณ ต้มโคล้งปลาม้า แล้วอย่าลืมมาล่องเรือเที่ยวริมแม่น้ำท่าจีน ชมวิวสองฝั่งน้ำกับวิถีชีวิตเรียบง่าย
ที่สุพรรณบุรีก็มีปลาชื่อดังเช่นกัน นั่นคือ “ปลาม้า” เป็นปลาน้ำจืดที่พบมากในสุพรรณบุรี เหตุที่เรียกว่าปลาม้านั้นก็มาจากครีบหลังที่ตั้งเป็นแผง มีลักษณะคล้ายแผงคอม้า และในช่วงฤดูผสมพันธุ์ของปลาม้า ปลาจะส่งเสียงร้องออกมาเพื่อเป็นการดึงดูดปลาตัวอื่นๆ ให้เข้ามาผสมพันธุ์ ปลาม้าสดนั้นสามารถนำไปทำได้หลายเมนู หรือจะเลือกซื้อเป็นปลาม้าแดดเดียว สามารถเก็บไว้กินได้นาน ก่อนกินก็นำไปทอดให้สุก เนื้อหอม กรอบนอกนุ่มใน มีรสเค็มนิดๆ กินกับข้าวต้มก็ดี ข้าวสวยก็อร่อย
อ่างทอง – ไปสักการะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่ “วัดม่วง” เข้าไปแล้วก็จะเห็นหลวงพ่อใหญ่ หรือ พระพุทธมหานวมินทร์ศากยมุนีศรีวิเศษชัยชาญ พระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีขนาดหน้าตักกว้าง 63 เมตร สูงถึง 95 เมตร หลังจากกสักการะองค์พระแล้ว อย่าลืมขึ้นมาด้านบน มาสัมผัสปลายพระหัตถ์ใหญ่ เชื่อว่าจะได้รับพรให้เติบโตและเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงาน
แวะไปช้อปกันที่ “ตลาดศาลเจ้าโรงทอง” ตลาดร้อยปีที่ อ.วิเศษชัยชาญ แต่เดิมในตลาดเป็นเรือนไม้ทอดยาวติดต่อกัน แต่ได้เกิดเพลิงไหม้ เลยถูกปรับปรุงกลับมาให้เป็นเรือนแถวครึ่งตึกครึ่งไม้ ที่พยายามรักษาสภาพเดิมให้ได้มากที่สุด ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดจะคึกคักมากกว่าทุกวัน มีร้านของอร่อยให้เดินเลือกชิมตลอดทาง โดยเฉพาะขนมไทย ที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกษรลำเจียก ขนมสาลี่ ขนมชั้น รวมถึงข้าวของเครื่องใช้และงานฝีมือต่างๆ แล้วก็มีพิพิธภัณฑ์อยู่กลางตลาด ที่เก็บรวมรวมของเก่าเอาไว้ให้ได้ชมกัน
แล้วมาชิมเมนูโบราณ “ผัดไทยเตาถ่าน” ที่บริเวณใกล้ๆ กับวัดไช่โยวรวิหาร จะมีร้านขายผัดไทยอยู่หลายร้าน ทีเด็ดก็คือการผัดด้วยเตาถ่านแบบดั้งเดิม ได้ความหอมมากกว่า รสชาตินุ่มนวล เมนูแบบดั้งเดิมต้องโรยหน้าด้วยกากหมูเจียวใหม่ๆ กินแล้วเข้ากันดียิ่ง
เที่ยวชุมชน คนริมเล
ภาคใต้ของไทย เกือบทุกจังหวัดอยู่ติดกับทะเล จึงทำให้มีชุมชนริมทะเลที่มีเอกลักษณ์ รวมถึงวัฒนธรรมและประเพณีที่สืบทอดกันมาจากเชื้อชาติและศาสนา หลอมรวมและอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
นครศรีธรรมราช – ที่ “บ้านคีรีวง” หมู่บ้านที่ว่ากันว่ามีอากาศบริสุทธิ์ติดอันดับโลก นอกจากจะมาพักผ่อนกับธรรมชาติรอบๆ ตัวแล้ว ที่นี่ยังมี “กลุ่มมัดย้อมสีธรรมชาติ” ที่สร้างสรรค์ผ้ามัดย้อมสวยๆ ด้วยวัสดุจากธรรมชาติ เช่นเปลือกไม้ต่างๆ นำมาย้อมผ้าตามลวดลายที่ออกแบบ ทำให้สีสันของผ้าดูนุ่มนวลเป็นธรรมชาติ ไม่ฉูดฉาด มีทั้งผ้าแบบเป็นผืน และตัดเย็บออกมาเป็นสินค้าชนิดต่างๆ นอกจากจะมีให้เลือกซื้อหากันแล้ว ที่นี่ยังเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ให้ความรู้เรื่องการมัดย้อมในทุกขั้นตอน
อีกหนึ่งงานศิลปะที่สืบทอดความรู้กันมาก็คือ “บ้านหนังตะลุง ลุงสุชาติ” โดยลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ศิลปินหนังตะลุงและช่างทำรูปหนังตะลุงฝีมือเยี่ยม เปิดพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องมือเครื่องใช้พื้นบ้าน และตัวหนังตะลุงหลากหลายแบบ มีมุมสาธิตการทำหนังตะลุง ที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อน ความตั้งใจ และฝีมือในการแกะ ลงสีตัวหนังในรูปแบบต่างๆ ใครชอบหนังตัวไหนก็สามารถซื้อกลับบ้านได้
มาเที่ยวแล้วก็อย่าลืมชิม “ขนมปะดา” หรือโดนัทเมืองคอน ขนมโบราณคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช เป็นขนมสูตรของชาวไทยมุสลิมที่สืบทอดกันมานาน ตัวขนมทำจากแป้งข้าวเจ้าคลุกกับกล้วยน้ำว้าสุกงอม นวดเป็นเนื้อเดียวกัน ไส้ขนมมีสมุนไพรต่างๆ ที่ผัดให้สุก นำไปทอดจนสีเหลืองทอง แป้งมีความหวานและหอม ไส้มีรสเค็มหวาน เผ็ดพริกไทยเล็กน้อย หอมมะพร้าวและตะไคร้
ตรัง – ที่เมืองตรัง ในสมัยก่อนมีชาวจีนอพยพเข้ามาอยู่กันมาก จึงยังมีการสืบทอดความเชื่อต่างๆ มาจนถึงปัจจุบัน อย่างที่ อ.กันตัง มี “ศาลเจ้าฮกเกี้ยน (ศาลเจ้าม่าจ้อโป๋)” ซึ่งเป็นที่เคารพของชาวบ้าน ตัวอาคารเป็นไม้แบบโบราณ ทาสีเหลืองสลับแดงดูสดใส สร้างมานานกว่าร้อยปี ด้านในมีรูปภาพและหลักฐานต่างๆ ที่บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนที่อพยพเข้ามา ด้านหลังอาคารมีศาลเจ้าม่าจ้อโป๋ ซึ่งสามารถเข้าเยี่ยมชมและสักการะได้
แล้วมาเที่ยวต่อที่ชุมชนชื่อแปลก “ชุมชนปากกัดตีนถีบ” หรือ “ชุมชนย่านซื่อ” เหตุที่ชื่อนี้ก็เพราะว่าเป็นชุมชนที่แปรรูปใบจากตั้งแต่การตัด-เลาะ-ตาก-อบใบจาก บริเวณริมฝั่งแม่น้ำตรัง มาจนถึงการสับ-มัด-ตาก-มวนใบจาก บริเวณใต้ถุนบ้าน แต่จุดเด่นที่สุดของกระบวนการผลิตก็คือ ภาพที่กลุ่มแม่บ้านหลากวัย นับตั้งแต่สาวไปจนชรา ต่างช่วยกันเลาะใบจากกันอย่างขะมักเขม้น จนถูกขนานนามอาชีพนี้ว่า “ปากกัดตีนถีบ” นอกจากนี้ยังมีการทำ “หมาจาก” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ตักน้ำภูมิปัญญาชาวบ้าน และทำจากมือด้วยการสานเป็นขนาดต่างๆ
ด้านของกินที่เมืองตรังก็มีหลากหลาย แต่จะชวนมาชิม “ขนมเปี๊ยะซอยเก้า” เป็นสูตรที่ปรับปรุงมาจากขนมเปี๊ยะต้นตำรับฮ่องกง ตัวไส้มีให้เลือกหลากหลาย ส่วนแป้งแปลกกว่าขนมเปี๊ยะอื่นๆ ตรงที่จะนำไปทอดแทนการอบ ทำให้แป้งข้างนอกกรอบแต่ไส้ในนุ่มหอม มาถึงเมืองตรังต้องแวะไปชิม
ชุมพร – ที่ชุมพรมีทะเลสวยมากๆ ไม่แพ้ฝั่งอันดามัน ต้องออกไปชมที่ “อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร” ชมโลกใต้ทะเลหลากสีสัน มีให้เลือกทั้งแบบดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น น้ำทะเลสีเขียวมรกตใสสะอาด ใต้ท้องทะเลมีปะการังหลากสายพันธุ์ ฝูงปลาน้อยใหญ่ และฉลามวาฬ ส่วนบนเกาะแต่ละแห่งก็มีหินรูปร่างแปลก ที่สะดุดตามากๆ ก็คือหินรูปหัตถ์พระพุทธเจ้ากลางทะเล ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของธรรมชาติ
แวะพักที่ “โฮมสเตย์บ้านไม้ชายคลอง” ที่บ้านบางสน อ.ปะทิว ชุมชนริมน้ำที่เงียบสงบ มีวิถีชาวประมง เปิดให้เข้ามาพักผ่อนสบายๆ สัมผัสธรรมชาติแบบใกล้ชิด ชิมอาหารทะเลสดๆ ล่องเรือชมป่าโกงกาง กลางคืนออกเรือไปตกหมึก แล้วก็ขึ้นเขาดินสอไปชมวิวเมือง
และถ้าใครที่ชอบลิ้มลองผลไม้อร่อยๆ ที่ชุมพรก็มีให้เลือกชิมกันแบบเต็มอิ่ม ทั้งทุเรียน มังคุด ลองกอง สละ ฯลฯ ผลไม้คุณภาพดี สด ใหม่ ส่งตรงจากสวน มีให้ชิมกันในช่วงเดือนมิถุนายน – สิงหาคม ของทุกปี
ระนอง – ผ่อนคลายร่างกายที่ระนอง ต้องมาแช่น้ำร้อนที่ “บ่อน้ำร้อนพรรั้ง” น้ำร้อนอุณหภูมิพอเหมาะ สีใสสะอาด ไม่มีกลิ่นกำมะถัน อุดมไปด้วยแร่ธาตุมากมาย เป็นน้ำแร่ที่คุณภาพดีติดอันดับโลก มานั่งแช่น้ำร้อนให้สบายตัว มองไปรอบๆ ก็สบายตา เพราะมีต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่น เดินเล่นเพลินๆ ก็ได้
ส่วนที่เที่ยวชุมชนก็น่าสนใจไม่น้อย “คลองลัดโนด” ชุมชนตำบลม่วงกลวง อ.กะเปอร์ ไปสัมผัสกับมหัศจรรย์ของป่าชายเลนอย่างใกล้ชิดด้วยการล่องเรือชมวิวอ่าวกะเปอร์ สองฟากฝั่งเต็มไปด้วยป่าโกงกางที่อุดมสมบูรณ์ เสร็จแล้วไปเรียนรู้วิถีประมงพื้นบ้าน ชิมอาหารทะเลสดๆ บนกระชัง อีกกิจกรรมที่สนุกไม่แพ้กันคือการลงไปสัมผัสสายน้ำเย็นๆ จนชุ่มฉ่ำใจ กับกิจกรรมล่องแพเปียก ที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562 ประเภทแหล่งท่องเที่ยว สาขาแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
ของกินประจำถิ่นระนองที่ต้องมาชิมให้ถึงที่ก็คือ “ซาลาเปาทับหลี” แถวๆ ทับหลีจะมีร้านขายซาลาเปาเรียงรายอยู่สองข้างทางกว่า 1 กิโลเมตร ซาลาเปาทับหลีแตกต่างจากที่อื่นตรงที่เป็นซาลาเปาแป้งหมัก สีเหลืองนวล นุ่มนิ่มหอมอร่อย รสชาติดั้งเดิมมี 3 ไส้ ได้แก่ ไส้หมูสับไข่ต้ม ไส้สังขยาไข่ และไส้ถั่วดำ
นราธิวาส – มีชุมชนชาวประมงริมทะเลหลายแห่ง ส่วนใหญ่นิยมใช้เรือกอและในการออกไปหาปลา และที่ “หาดบ้านทอน” ก็มีหมู่บ้านต่อเรือกอและที่ยังหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในนราธิวาส ชาวบ้านยังทำประมงพื้นบ้าน บางส่วนก็เป็นช่างต่อเรือกอและที่มีสีสัน และลวดลายงามวิจิตรละเอียดลออ ปัจจุบันนี้ นอกจากจะต่อเรือกอและลำใหญ่แล้ว ยังมีการทำเรือกอและจำลอง สำหรับเป็นสินค้าของฝากให้นักท่องเที่ยวด้วย
แวะไปชมมัสยิดเก่าแก่กว่า 300 ปี “มัสยิดวาดีลฮูเซ็น” ที่บ้านตะโละมาเนาะ สร้างขึ้นในปี 2167 มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นโดยใช้ไม้ตะเคียน และพิเศษไปกว่านั้นคืออาคารทั้งหลังไม่ได้ใช้ตะปูหรือสกรูเหล็กยึดไม้เลย แต่ใช้สลักไม้แทน ศิลปะการก่อสร้างได้รับอิทธิพลจากศิลปะชวา และมีการผสมผสานกับศิลปะท้องถิ่น ซึ่งเป็นลักษณะของมัสยิดก่อนที่อิทธิพลของศิลปะแบบอาหรับจะเข้ามา เหนือหลังคาจะมีฐานมารองรับจั่วบนหลังคาอยู่ชั้นหนึ่ง ส่วนหออาซานซึ่งมีลักษณะเป็นเก๋งจีน ก็ตั้งอยู่บนหลังคาส่วนหลัง ฝาเรือนใช้ไม้ทั้งแผ่นแล้วเจาะหน้าต่าง ปัจจุบันมัสยิดนี้ยังใช้เป็นสถานประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิม
และของดีของเด็ดของนราธิวาสที่พลาดไม่ได้ก็คือ “ปลากุเลาตากใบ” ถือเป็นราชาแห่งปลาเค็มที่ครองแชมป์ในเรื่องของรสชาติ ปลากุเลาตากใบเนื้อเนียนละเอียด รสเค็มกำลังดี ตอนทอดจะมีกลิ่นหอมโชยเตะจมูกยั่วน้ำลาย และความอร่อยขึ้นชื่อทำให้มีราคาสูงพอสมควร จึงมักถูกซื้อหาไปเป็นของกำนัลให้คนที่นับถือ ถึงราคาจะแพงแต่ถ้าใจรัก ก็เชื่อว่าไม่ใช่อุปสรรคในการลิ้มรสปลากุเลาตากใบอย่างแน่นอน
สมาชิกเมืองไทยสไมล์คลับ รับสิทธิพิเศษส่วนลดห้องพักโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ รถเช่า AVIS และ และ รับฟรีเครื่องดื่ม จากร้านที่ร่วมรายการ ใน 36 จังหวัดเมืองรอง ตั้งแต่ 1 ก.ค. 63 – 15 ธ.ค. 63 ดูรายละเอียดเพิ่มเติม
รับส่วนลด คลิก https://bit.ly/3jptJR4 รับฟรีเครื่องดื่ม คลิก https://bit.ly/30uSy5c