เที่ยวตามรอยสารคดี “อยุธยาที่ไม่รู้จัก”

อยุธยา อดีตมหาอำนาจราชธานีที่ยิ่งใหญ่ ยังมีแง่มุมที่เรายังไม่รู้จักอีกมากมาย ท่องเที่ยวตามรอยสารคดี ชุด “อยุธยาที่ไม่รู้จัก” ของช่อง ThaiPBS เป็นการตามรอยอารยธรรมโบราณที่เคยรุ่งเรืองของไทย ในสมัยอยุธยา ที่คุณอาจยังไม่เคยรู้

ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนักโบราณคดี และนักวิชาการที่มีชื่อเสียง ดำเนินรายการโดย อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะกิจ นักวิชาการอิสระ ติดตามชมได้ทาง สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10-22.00 น.

การเดินทางติดตามประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา เริ่มต้นที่ “วัดพนัญเชิง”

หากใครเดินทางมาอยุธยาแล้ว ไม่ได้แวะนมัสการ “หลวงพ่อโต” วัดพนัญเชิง” ก็เหมือนยังมาไม่ถึงอยุธยา เพราะถือเป็นจุดเช็คอินลำดับต้นๆ เลยทีเดียว

เอาฤกษ์เอาชัย โดยการร่วมพิธีห่มผ้าหลวงพ่อโต ซึ่งมีทุกวัน เป็นรอบๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ นำผ้าที่ประชาชนถวาย ขึ้นไปห่มองค์หลวงพ่อ พร้อมโยนผ้าห่มลงมาให้คลุมศีรษะ และบริกรรมคาถา เพื่อเป็นสิริมงคล

ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมเรียก “หลวงพ่อโต” ว่า “ซำปอกง” กล่าวกันว่า เป็นพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา 26 ปี

สถาปัตยกรรมของวัดพนัญเชิง เป็นศิลปะผสมไทย-จีน ตามตำนานเล่าว่า พระเจ้าสายน้ำผึ้งสร้างวัดนี้ เพื่อระลึกถึงพระนางสร้อยดอกหมาก พระธิดากษัตริย์จีนที่มาสิ้นพระชนม์ในอยุธยา

 “ป้อมเพชร”
เป็นป้อมที่ใหญ่ และสำคัญที่สุดของอยุธยา อยู่อีกฝั่งของแม่น้ำ มองเห็นได้จากวัดพนัญเชิง รอบๆ ป้อมเพชร เดิมเป็นย่าน “บางกะจะ” ซึ่งมีตลาดน้ำบางกะจะตั้งอยู่

อ.ศิริพจน์ เล่าว่า “ตลาดน้ำบางกะจะ” มีความคึกคักมากในอดีต และเคยมีการงมขวดบรั่นดี ได้เป็นจำนวนมาก อันเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์

 “วัดบางกะจะ”
อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดพนัญเชิง มีเจดีย์ศิลปะล้านนา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริเวณวัดบางกะจะ เคยเป็นชุมชนชาวล้านนาในอยุธยา

 “วัดส้ม”
เป็นวัดที่ไม่เคยปรากฏในพงสาวดารฉบับใดของกรุงศรีอยุธยา เป็นวัดเล็กๆ ที่มีความสวยงาม เป็นเอกลักษณ์ด้วย พระปรางค์องค์เล็ก ที่งดงามด้วยลวดลายปูนปั้นอันวิจิตร หาชมได้ยาก

“พระปรางค์วัดส้ม” มีต้นแบบมาจากปราสาทขอม สะท้อนให้เห็นถึงความเกี่ยวโยงกับอารยธรรมขอมอย่างลึกซึ้ง ในช่วงต้นกรุงศรีอยุธยา

 “บึงพระราม”
เดิมชื่อ “หนองโสน” สถานที่ซึ่ง พระเจ้าอู่ทอง ใช้เป็นศูนย์กลางสถาปนากรุงศรีอยุธยา เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่อยู่กลางเกาะเมือง

“วัดพระราม”

วัดสำคัญที่สร้างอยู่บริเวณเดียวกับบึงพระราม เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าอู่ทอง

โดยชื่อวัดพระราม ตั้งขึ้นเพื่อถวายพระเกียรติ แด่ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยา ให้เปรียบเป็นองค์อวตาร ดุจเดียวกับพระราม ในมหากาพย์รามายณะนั่นเอง

“วัดราชบูรณะ”

ชมกรุสมบัติเครื่องทองชุดสำคัญ ที่แสดงความรุ่งเรืองของอยุธยา ในยุคราชวงศ์สุพรรณภูมิ มีทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ พระบรมสารีริกธาตุ เครื่องทอง และศิลปวัตถุอื่นๆ

“กรุสมบัติ วัดราชบูรณะ”
เปิดให้ลงไปชมได้ โดยกรมศิลปากร ได้สร้างบันไดแคบๆ ทอดลงไปยังกรุที่อยู่ด้านล่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยว

“พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา”

ชมศิลปวัตถุอันงดงามล้ำค่า ที่ค้นพบจากกรุสมบัติ วัดราชบูรณะ และวัดมหาธาตุ

ห้องจัดแสดงเครื่องทอง ที่ได้จากกรุวัดราชบูรณะ อันเป็นที่มาของการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์

โถงกลาง จัดแสดงพระพุทธรูป พระพิมพ์ และโบราณศิลปวัตถุอื่นๆ จำนวนมาก

เศียรพระพุทธรูปสำริด จากวัดธรรมิกราช ศิลปะอยุธยารุ่นอู่ทอง 2 ร่วมสมัยกับหลวงพ่อโต วัดพนัญเชิง

“วัดพระศรีสรรเพชญ์”
วัดหลวงสมัยอยุธยา ใช้ประกอบพระราชพิธีต่างๆ และเป็นพระราชวังโบราณ ที่ประทับของพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา

อยู่ในพื้นที่ของอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ซึ่งได้รับกาขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก”จาก UNESCO

โดดเด่นด้วย “เจดีย์ 3 องค์”  ทรงระฆัง(ทรงลังกา) ตั้งเรียงกันจำนวน 3 องค์ แต่ละองค์ถูกคั่นด้วยมณฑป ซึ่งปัจจุบันมณฑปเหล่านี้ พังทลายเหลือแต่ส่วนฐาน

 “วัดหน้าพระเมรุ”
ตั้งอยู่นอกเกาะเมือง ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง เหตุเพราะวัดตั้งอยู่ตรงข้ามกับทุ่งพระเมรุ จึงถูกเรียกว่า วัดหน้าพระเมรุ

ภายในอุโบสถ ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องแบบกษัตริย์ นามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” คาดว่าสร้างขึ้นเพื่อแสดงบุญญาธิการของพระเจ้าปราสาททอง

นมัสการ “พระนั่งห้อยพระบาท” สมัยทวารวดี ภายในวิหารน้อย เป็นพระพุทธรูปศิลา นั่งห้อยพระบาท นามว่า “พระคันธารราษฎร์” อายุราว 1,000 ปี

“วัดพุทไธศวรรย์”
เคยเป็นที่ตั้งของพระตำหนักเวียงเหล็ก ที่ประทับชั่วคราวของพระเจ้าอู่ทองก่อนที่จะสถาปนากรุงศรีอยุธยา

ภายในมีพระปรางค์ขนาดใหญ่สวยงาม มีอาคารทรงมณฑปขนาบข้าง

ชมภาพจิตกรรมเก่าแก่ ภายใน “ตำหนักพระพุทธโฆษาจารย์” เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยสมเด็จพระเพทราชา

ภาพจิตรกรรมมีหลายเรื่อง อาทิ ไตรภูมิ ทศชาติชาดก ตำนานพุทธโฆษาจารย์ไปลังกา และการบูชารอยพระพุทธบาท

“พิพิธภัณฑ์บ้านฮอลันดา”
เยี่ยมชมชุมชนชาวดัชต์ในกรุงศรีอยุธยา

อาคารชั้นล่าง เป็นร้านอาหารและคอฟฟี่ช้อป จัดตกแต่งในสไตล์ดัชต์ สีสันสดใส น่านั่งพักผ่อน ทานอาหาร จิบกาแฟ และซื้อของที่ระลึก

ชั้นบน จัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-เนเธอร์แลนด์

รวบรวมเรื่องราวของชาวฮอลันดา ที่ใช้อยุธยาเป็นสถานีกลาง สำหรับจัดหาสินค้าประเภทของป่า และเครื่องเทศ ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดต่างประเทศ

โดยเข้ามาในนาม บริษัทดัชท์อินเดียตะวันออก หรือ ชื่อย่อว่า VOC

โบราณวัตถุที่ขุดพบในบริเวณบ้านฮอลันดา จัดแสดงอยู่ภายใต้พื้นกระจกใส

“ถนนคนเดินกรุงศรี”
สถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ในอยุธยา ซอยข้างศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (หลังเก่า)ไหว้พระ รับพร ชมละคร นอนอยุธยา

บรรยากาศตลาดยามเย็น ที่มีพ่อค้าแม่ค้าแต่งตัวย้อนยุค รอต้อนรับนักท่องเที่ยวที่มาเดินซื้อสินค้า ชิม ชม ช้อป เดินเล่นชิลๆ ในวันหยุดสุดสัปดาห์ ศุกร์-เสาร์-อาทิตย์

ภายในถนนคนเดินกรุงศรี มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย อาทิ ชมการแสดงละคร การละเล่นพื้นบ้าน ดนตรี การเสวนา ฯลฯ

โดยในวันที่ 11 สิงหาคม 2560 มีการจัดเสวนา “อยุธยาที่หายไป” ที่เวทีกลาง พร้อมรับชมวีดีทัศน์ ตัวอย่างสารคดี “อยุธยาที่ไม่รู้จัก” ตอน “อยุธยา มหาอำนาจราชธานี”

ดำเนินการเสวนา โดย อ.ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ นักวิชาการอิสระ ร่วมด้วย

– อ.มิกกี้ ฮาร์ท นักวิชาการอิสระชาวพม่า เล่าถึงอยุธยาในแผ่นดินพม่า

– อ.ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ รองคณบดี ฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวถึงพระเมรุมาศ อยุธยา เชื่อมโยงถึง รัตนโกสินทร์

– คุณจิรายุส สายนาค หรือ เก่ง Rapaze แชมป์รายการ Rap is now 2016 พูดถึงอยุธยาในมุมมองคนรุ่นใหม่

“นั่งรถราง”
ชมบรรยากาศรอบกรุงศรีอยุธยา ให้บริการ นั่งรถรางชมเมืองฟรี! ทุกวัน ในเวลาราชการ

สามารถรอขึ้นรถได้ตามจุดต่างๆ รอบเมือง หรือจะขึ้นที่ “ถนนคนเดินกรุงศรี” ในวันศุกร์-อาทิตย์ เป็นบริการนั่งรถรางชมเมืองยามค่ำคืน

ชมการเปิดไฟประดับ ตามโบราณสถานรอบกรุง ในวาระพิเศษ ช่วงวันแม่แห่งชาติ เป็นการจบทริปตามรอยสารคดี “อยุธยาที่ไม่รู้จัก”

สารคดีที่มุ่งหวังให้เกิดมุมมองใหม่ มิให้เห็นอยุธยาเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของเมืองโบราณเพื่อการท่องเที่ยว แต่เป็นอยุธยาที่คนไทยภาคภูมิใจ

สารคดีมีทั้งหมด 5 ตอน
– วันที่ 5 สิงหาคม 2560 ตอน “อยุธยาที่หายไป”
– วันที่ 12 สิงหาคม 2560 ตอน “อยุธยามหาอำนาจราชธานี”
– วันที่ 19 สิงหาคม 2560 ตอน “อยุธยาเมืองท่าแห่งอุษาคเนย์”
– วันที่ 26 สิงหาคม 2560 ตอน “หลากชนชาติ หลากภาษา อยุธยาราชธานี”
– วันที่ 2 กันยายน 2560 ตอน “อยุธยา รากของความเป็นไทยที่ยังอยู่”

ติดตามชมสารคดีชุด “อยุธยาที่ไม่รู้จัก”
ได้ทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส
ทุกวันเสาร์ เวลา 21.10-22.00 น.

 

You may also like...